ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) มอบหมายให้ นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) นำคณะเจ้าหน้าที่ คปภ. ลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านประกันภัย แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้จัดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย “Training for the Trainers” สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2562 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดต่อให้กับเกษตรกร รวมทั้งผลักดันระบบการประกันภัยให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยนาท เพชรบูรณ์ น่าน เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี นครพนม และนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้จัดการอบรมฯ ไปแล้ว 3 ครั้ง คือ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดชัยนาท สำหรับการจัดอบรมฯ ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2562 นับเป็นครั้ง 4 ของการจัดอบรมฯ ตามโครงการนี้ โดยพบว่าในปี 2561 จังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จำนวน 998,787 ไร่ มีการทำประกันภัยข้าวนาปี จำนวน 613,862 ไร่ คิดเป็น 61.5 % (อยู่อันดับที่ 19) ของจังหวัดที่มีการทำประกันภัยข้าวนาปีสูงที่สุดของประเทศ โดยมีเกษตรทำประกันภัยข้าวนาปี จำนวน 39,736 ราย ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงเลือกจังหวัดเพชรบูรณ์ ในการลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ด้านประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยคาดหวังว่าในปีนี้จังหวัดเพชรบูรณ์จะมีการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ
สำหรับรูปแบบการอบรมความรู้ด้านประกันภัยในการลงพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ แบ่งออกเป็น 2 วัน กล่าวคือ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ตนและคณะวิทยากร ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร จำนวน 250 ราย ในตำบลชอนไพร อำเภอเมือง เพื่อรับทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเกษตรกรได้มีการสะท้อนสภาพปัญหาการทำประกันภัยข้าวนาปีในปีที่ผ่านมา ชนิดที่เรียกว่า “ขอดเกล็ด” สภาพปัญหาและอุปสรรคต่างๆ โดยมีคณะวิทยากรจากสำนักงาน คปภ. เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. และผู้แทนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมชี้แจง จนเป็นที่เข้าใจของเกษตรกร รวมทั้งได้มีการนำข้อมูลจากการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรในครั้งนี้ไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อไป ต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 เป็นการเปิดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2562 ณ ห้องศรีเทพ โรงแรมโฆษิตฮิลล์ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี ท่านสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้เกียรติ เป็นประธานเปิดงานและกล่าวขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นสถานที่จัดการอบรมความรู้ด้านประกันภัยในครั้งนี้ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรในจังหวัดเพชรบูรณ์ในการนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ
ในโอกาสนี้ นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จุดเปลี่ยนชีวิตเกษตรกรไทย” โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า ระบบประกันภัยเป็นเรื่องที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ตั้งแต่ลมหายใจเข้าปอดครั้งแรก จนกระทั่งลมหายใจเข้าปอดครั้งสุดท้าย เช่น เด็กแรกเกิด เมื่อคลอดออกมาเป็นทารก ระบบประกันภัยได้เข้าไปดูแลในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการคลอดทันที หากแม่ของเด็กคนนั้นทำประกันภัย เมื่อเด็กคนนั้นเติบโตและเจ็บป่วย ระบบประกันภัยได้เข้ามาเยียวยา ค่ารักษาพยาบาล หรือแม้แต่เด็กคนนั้นเข้าโรงเรียนก็มีประกันภัยนักเรียน เมื่อจบออกมามีงานทำและแต่งงาน มีครอบครัวไป จนกระทั่งเด็กคนนั้นปิดฉากชีวิตบนโลกใบนี้ ระบบประกันภัยก็เข้ามาเกี่ยวข้อง และช่วยเยียวยาความสูญเสียต่างๆที่เกิดขึ้นให้กับทายาทโดยธรรม ซึ่งในแต่ละช่วงอายุของคนๆหนึ่งจะมีระบบประกันภัยเข้าไปเกี่ยวข้องในทุกๆ มิติของชีวิต แม้กระทั่งความเสียหายจากทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นรถหาย ไฟไหม้บ้าน ไหม้ตึก ล้วนแล้วแต่มีระบบประกันภัยเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งสิ้น หากคนๆนั้น รู้จักนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงให้กับตนเองและครอบครัวอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงอยากให้เกษตรกรไทย นำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงภัยอย่างเป็นระบบ ด้วยการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งปีนี้มีการกำหนดอัตราค่าเบี้ยประกันภัย ข้าวนาปี สำหรับความคุ้มครองพื้นฐานอยู่ที่ 85 บาทต่อไร่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 51 บาทต่อไร่ และธ.ก.ส. อุดหนุน 34 บาทต่อไร่ ดังนั้นเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแต่อย่างใด ในส่วนของการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอัตราค่าเบี้ยประกันภัย 59 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 35 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุน 24 บาทต่อไร่ ดังนั้นเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย เช่นกัน ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี และประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สามารถทำประกันภัยได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 (ยกเว้นภาคใต้ถึง 15 ธันวาคม 2562)
ที่มา : https://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/89425