ภายใต้ธีมงาน “การนำเทคโนโลยีด้านการประกันภัยมาใช้ในเชิงรุก เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจประกันภัย” (Proactive InsurTech for National Sustainability)
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดย สถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง เปิดเวทีระดมความรู้ในงานประชุมสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ครั้งที่ 6 ประจำปี พ.ศ. 2562 (Thailand Insurance Symposium 2019) ภายใต้แนวคิด “Proactive InsurTech for National Sustainability” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการประกันภัย ให้กับบุคลากรประกันภัย หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย และเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประกันภัยมาเชื่อมโอกาสธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิทัล โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 400 คน เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ณ ห้องบอลรูม 2-3 โรงแรม คอนราด
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า การจัดงาน Thailand Insurance Symposium 2019 ครั้งนี้ถือเป็นเวทีเปิดกว้างและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัยและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการเสริมสร้างความรู้ด้านการประกันภัย การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประยุกต์ใช้กับธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างโอกาสทางพันธมิตรเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันทั้งในภาคส่วนธุรกิจประกันภัยและธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยเติบโตในตลาดการเงินของประเทศไทย และในขณะเดียวกันประชาชนผู้บริโภคก็ได้รับประโยชน์ไปพร้อมกัน
ในงานสัมมนาครั้งนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Proactive InsurTech for National Sustainability” โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่าสำหรับปี 2562 สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดทิศทางนโยบายการดำเนินงานให้เป็น “ปีแห่งการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัยให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งแนวคิดในการจัดงานสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัยในปีนี้จึงสอดคล้องกับการดำเนินงานและการขับเคลื่อนนโยบายในเชิงรุกของสำนักงาน คปภ. เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจประกันภัย โดยมุ่งเน้นสนับสนุนงานวิชาการ งานวิจัยและการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ สร้างความรู้ความเข้าใจและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อธุรกิจประกันภัยใน 4 มิติหลัก ประกอบด้วย
มิติแรกคือการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัย ด้วยการนำระบบสารสนเทศเข้ามาใช้ลดต้นทุนการประกอบธุรกิจประกันภัย ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการประกันภัย 2) ด้านการขาย 3) ด้านการพิจารณารับประกันภัย 4) ด้านการจัดการค่าสินไหม โดยในช่วงที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วหลากหลายส่วน อาทิ การจัดตั้ง Center of InsurTech, Thailand (CIT) ซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลกลาง แลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีประกันภัยเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัย การยกระดับมาตรฐานการดำเนินการของภาคธุรกิจประกันภัยแบบองค์รวมผ่านการนำเทคโนโลยีทั้ง RegTech และ SupTech มาใช้ในการกำกับดูแล และส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบใหม่ๆ การบริหารความเสี่ยงเชิงบูรณาการด้วย Own Risk and Solvency Assessment และการจัดทำแนวทางปฏิบัติด้านการบริหารความเสี่ยงด้านระบบสารสนเทศ การยกระดับพฤติกรรมทางตลาดของคนกลางประกันภัยผ่านประกาศ คปภ. เรื่อง การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย ให้ครอบคลุมทุกช่องทางการขาย และล่าสุด เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้มีการเปิดตัว Application “Me Claim” ที่เชื่อมต่อกับ Application “Police i Lert u” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วยสโลแกน คลิ๊กเดียว-ฉับไว-อุ่นใจ-ประกันมา ซึ่งเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา
มิติที่สองคือการเสริมสร้างความรู้และการเข้าถึงการประกันภัย ผ่านการพัฒนาช่องทางการสื่อสารต่างๆ ของสำนักงาน คปภ. ให้เข้าถึงประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ด้วยการให้ความรู้เชิงรุกผ่านโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มฐานราก ให้สามารถเข้าถึงและนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยโดยเฉพาะการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี และจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 และดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนดำเนินโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) เชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 จำนวน 24 บริษัท และได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการปกครอง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมประชาสัมพันธ์ กรมการข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสมาคมประกันวินาศภัยไทย
มิติที่สามคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน ผ่านการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงตลาดประกันภัยในภูมิภาคอาเซียนผ่านการจัดทำหลักสูตรและความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้มีการลงนามความตกลง MOU กับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สปป. ลาว และกัมพูชา และมีการจัดตั้งโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox) เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัย นายหน้าประกันภัยนิติบุคคล หรือ FinTech Firms ที่ร่วมกับบริษัทประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัยนิติบุคคล สามารถนำนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและ/หรือลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ มาทดลองประกอบธุรกรรมภายใต้ขอบเขตการกำกับดูแลของ สำนักงาน คปภ.
มิติสุดท้ายคือการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย ด้วยการพัฒนาและยกระดับบุคลากรประกันภัยผ่านสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักงาน คปภ. ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านประกันภัยระดับสูงของประเทศ ทั้งด้านความรู้ จริยธรรม และเพิ่มทักษะด้านการประกันภัยระดับสูงให้แก่บุคลากรประกันภัยทุกฝ่าย รวมทั้งเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการประกันภัย เพื่อให้บุคลากรประกันภัยและประชาชนทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ ค้นคว้าข้อมูลด้านการประกันภัย นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. โดยสถาบันวิทยาประกันภัยระดับสูงยังมีนโยบายส่งเสริมด้านการวิจัย เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมประกันภัยให้ดียิ่งขึ้น โดยมีรูปแบบการสนับสนุนเช่น การให้ทุนวิจัยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัยแก่ผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญ หรือ Regulator ที่อยู่ในกลุ่มประเทศ CLMV อีกด้วย
“สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย เล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อม สิ่งสำคัญที่สำนักงาน คปภ. คำนึงถึงอยู่เสมอ คือ การกำหนดแนวนโยบาย การพัฒนาระบบงานต่างๆ และการพัฒนากฎระเบียบที่รองรับและสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลควบคู่ไปกับการตระหนักถึงความต้องการจากทั้งภาคธุรกิจและสังคมอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมประกันภัยในยุคดิจิทัล ให้มีความทันสมัย สอดรับกับความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย เกิดการแข่งขันในเชิงสร้างสรรค์ และประชาชนมั่นใจได้ว่าการทำธุรกรรมใดๆ กับบริษัทประกันภัยจะได้รับการดูแลให้มีความถูกต้อง ปลอดภัย และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน” ดร.สุทธิพล กล่าวย้ำ
สำหรับการจัดงาน Thailand Insurance Symposium ภายใต้ หัวข้อ “Proactive InsurTech for National Sustainability” ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์โดยวิทยากรผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งในด้านประกันภัยและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Technology Innovation for Agriculture Insurance” โดย Mr. Ajeet Phatak, Head of Agriculture, Munich Re India Branch การบรรยายพิเศษเรื่อง “How InsurTech companies around the world are re-inventing the industry?” โดย Mr. Jinesh Patel, Partner at Dymon Asia Ventures, Singapore และปิดท้ายด้วยการบรรยายพิเศษเรื่อง Insurance innovation cannot happen without successful distribution network โดย Mr. Yuen Tuck Siew, Founder and CEO of Jirnexu, Malaysia อีกทั้งยังมีพิธีมอบรางวัลผลงานวิชาการให้กับนักศึกษาหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง วปส. รุ่น 8 จำนวน 2 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลผลงานดีเด่น เรื่อง “การพัฒนา Mobile Application เพื่อส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพ ให้ความรู้และสร้างความตระหนักในการทำประกันภัยกับประชาชนอย่างยั้งยืน” และผลงานดี เรื่อง “ระบบข้อมูลสิทธิการรักษาพยาบาลจากกรมธรรม์ประกันสุขภาพ (Private Health Insurance Benefits Bureau)”
“ปัจจุบันธุรกิจประกันภัยกำลังต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง สภาวะโลกร้อน การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ระบบเศรษฐกิจและการเงินของโลกที่ผันผวน รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ซึ่ง สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยต้องมีการปรับตัวและนำเอากลยุทธ์ต่างๆ มาใช้ในการกำกับดูแล และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยให้มีความเข้มแข็ง และยั่งยืน พร้อมเป็นกลไกขับเคลื่อนพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน โดยยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญและไม่อาจมองข้ามได้ ก็คือ งานวิชาการและงานวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีการประกันภัย หรือที่เรียกว่า InsurTech เพราะถือเป็นอนาคตของธุรกิจประกันภัยที่ก่อให้เกิดทั้งความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและลดต้นทุนในการดำเนินการ ซึ่งงานประชุมสัมมนาวิชาการด้านประกันภัยในปีนี้มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาสร้างประโยชน์อย่างสร้างสรรค์และขับเคลื่อนระบบการประกันภัยในเชิงรุก และเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความเห็นเกี่ยวกับงานวิชาการ และการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ในเชิงปฏิบัติ เพื่อเป็นการต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการประกันภัยอย่างยั่งยืน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา : https://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/89353