คปภ. เร่งเยียวยาความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงสงกรานต์ปีนี้ • ประเดิม 7 วันอันตราย รถยนต์ตู้เฉี่ยวชนรถไฟด่วนพิเศษ (หนองคาย-กทม.)ดับ 6 ศพ บาดเจ็บ 9 ราย ที่จังหวัดลพบุรี

คปภ. เร่งเยียวยาความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนช่วงสงกรานต์ปีนี้ • ประเดิม 7 วันอันตราย รถยนต์ตู้เฉี่ยวชนรถไฟด่วนพิเศษ (หนองคาย-กทม.)ดับ 6 ศพ บาดเจ็บ 9 ราย ที่จังหวัดลพบุรี

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ตู้โดยสาร (ไม่ประจำทาง) หมายเลขทะเบียน 30-1114 อุบลราชธานี เฉี่ยวชนกับรถไฟด่วนพิเศษโดยสาร ขบวนที่ 26 หนองคาย – กทม. บริเวณข้ามทางรถไฟ ถนนทางหลวง 3017 (ลพบุรี-วังม่วง) หมู่ 11 ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ 9 ราย และเสียชีวิต 6 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2562 โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการ ร่วมกับ สำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดลพบุรี ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก ด้านประกันภัยให้กับผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 6 ราย ได้มีการทำประกันชีวิตหรือประกันอุบัติเหตุประเภทอื่นๆไว้ด้วยหรือไม่ เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ได้รับรายงานเบื้องต้นจาก สำนักงาน คปภ. จังหวัดลพบุรี ว่า รถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน 30-1114 อุบลราชธานี ได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ NCM19002775634 เริ่มคุ้มครองวันที่ 27 ธันวาคม 2561 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 27 ธันวาคม2562 โดยให้ความคุ้มครองผู้ประสบภัย กรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร  จำนวน 300,000 บาทต่อหนึ่งคน กรณีความเสียหายต่อร่างกายหรืออนามัย จำนวน 80,000 บาทต่อหนึ่งคน กรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน จำนวน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน
นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบว่ารถยนต์ตู้คันดังกล่าวได้ทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ ประเภท 1 ไว้กับบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่ NVM10000637201 เริ่มความคุ้มครองวันที่ 27 ธันวาคม 2561 สิ้นสุดความคุ้มครอง 27 ธันวาคม 2562 โดยให้ความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (ความเสียหายต่อชีวิต ร่ายกาย หรืออนามัย เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุดตาม พ.ร.บ. จำนวน 500,000 บาทต่อคน รวมแล้วไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง) ความเสียหายต่อทรัพย์สิน จำนวน 1,000,000บาทต่อครั้ง กรณีเกิดความเสียหายต่อรถยนต์ จำนวน 1,000,000 บาทต่อครั้ง กรณีรถยนต์สูญหาย/ไฟไหม้ จำนวน 1,000,000 บาทต่อครั้ง สำหรับความคุ้มครองตามเอกสารแนบท้าย (ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล) กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร ผู้ขับขี่ 1 คน จำนวน 50,000 บาท ผู้โดยสาร 9 คน จำนวน 50,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล จำนวน 50,000 บาทต่อคน การประกันตัวผู้ขับขี่ 200,000 บาทต่อครั้ง
สำหรับ การจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 6 ราย และผู้บาดเจ็บทั้ง 9 ราย นั้น จากการติดตามอย่างใกล้ชิดทราบว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นชาวบ้านในตำบลข้าวปุ้น อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี โดยครอบครัวของผู้เสียชีวิตจะนำศพของผู้เสียชีวิตกลับไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิดในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีต่อไป
ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จังหวัดลพบุรี จึงประสานงานไปยัง สำนักงาน  คปภ. ภาค 5 ( จังหวัดอุบลราชธานี) และ สำนักงาน คปภ. จังหวัดอุบลราชธานี เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากบริษัทประกันภัยว่า ได้มีการติดต่อกับทายาทของผู้เสียชีวิต ทั้ง 6 รายแล้ว และจะเร่งดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนจัดทำเอกสารประกอบการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ในส่วนของผู้บาดเจ็บ ทั้ง 9 ราย ที่ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลวังม่วง โรงพยาบาลพระพุทธบาท และโรงพยาบาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นั้น สำนักงาน คปภ. จังหวัดลพบุรี ได้แจ้งสิทธิค่ารักษาพยาบาลของผู้ประสบภัยตาม พ.ร.บ. ให้กับผู้บาดเจ็บและโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง ได้รับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะได้ติดตามให้มีการจ่ายตามสิทธิดังกล่าวต่อไป
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต 6 รายและผู้บาดเจ็บ 9 ราย จากอุบัติเหตุดังกล่าว และนับว่าเป็นอุบัติเหตุรายใหญ่ครั้งแรกในช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย และขอฝากเตือนประชาชน ควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะเส้นทางการจราจรที่ไม่คุ้นเคย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้ และหมั่นตรวจสอบสภาพรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนตรวจวันหมดอายุกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งควรทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและประกันชีวิตอื่นๆ ด้วย เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในที่สุด
ที่มา : https://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/89329

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *