คปภ. เสริมศักยภาพธุรกิจประกันภัยไทยในเวที Asian Insurance Forum ดึงหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของเอเซียเป็นแนวร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้ ประกันภัยไทย

คปภ. เสริมศักยภาพธุรกิจประกันภัยไทยในเวที Asian Insurance Forum ดึงหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของเอเซียเป็นแนวร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้ ประกันภัยไทย

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เข้าร่วมประชุม Asian Insurance Forum ณ เขตการปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งผู้ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้แทนจาก หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศต่างๆ อาทิ Australian Prudential Regulation Authority (ประเทศออสเตรเลีย) Insurance Regulatory and Development Authority (ประเทศอินเดีย) และ China Insurance Regulatory Commission (สาธารณรัฐประชาชนจีน) เป็นต้น รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารระดับสูงจาก บริษัทประกันภัย และ หน่วยงาน/องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มากกว่า 200 คน
การประชุมดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหารระดับสูงทั้งในธุรกิจประกันภัยและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ นักกฎหมาย และนักวิชาการ เป็นต้น โดยหัวข้อการสนทนาครอบคลุมความท้าทายและโอกาสที่เกิดขึ้น จากการพัฒนาและการขยายตัวของธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเซีย ซึ่งที่ประชุมเห็นว่านอกเหนือจากการบ่งชี้โอกาสและช่องทางที่ธุรกิจประกันภัย สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการอื่นในแต่ละประเทศแล้วนั้น หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและ ภาคธุรกิจประกันภัยของเอเซียควรผนึกกำลังในการสร้างฐานเสียงที่หนักแน่นในเวทีโลก อาทิ มาตรฐานการกำกับธุรกิจประกันภัยสากล (International Association of Insurance Supervisors) และมาตรฐาน บัญชีสากล (International Financial Reporting Standards) เป็นต้น เพื่อให้มาตรฐานดังกล่าวนั้นเหมาะสมกับบริบทและระดับการพัฒนาการ ของอุตสาหกรรมประกันภัยของเอเชีย
นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของฮ่องกงและภาคธุรกิจประกันภัยของฮ่องกงได้กล่าวถึงแผนการยกระดับเขตการปกครองพิเศษฮ่องกง ให้เป็นศูนย์กลางด้านการประกันภัย การประกันภัยต่อ และการบริการด้านการบริหารความเสี่ยงของภูมิภาคเอเชียด้วยการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการตั้ง Captive insurer การซื้อขายอนุพันธ์ อีกทั้งการบูรณาการด้านเศรษฐกิจระหว่าง เขตการปกครองพิเศษฮ่องกงและหัวเมืองสำคัญทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ต่อมาในวันที่ 12 ธันวาคม 2561 ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงาน คปภ. และคณะผู้บริหารรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของ สำนักงาน คปภ. เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านมาตรฐานบัญชี หัวข้อ “Workshop on IFRS 17 for the Asian Forum of Insurance Regulators” โดยมีเข้าร่วมเป็นผู้แทนจากหน่วยงานกำกับรวมทั้งหมด 15 ประเทศ อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่มบริษัทประกันภัยในระดับสากล ในการสัมมนามีการแสดงมุมมองและข้อเสนอแนะจากการทดสอบการปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชี IFRS 17 จากบริษัทให้คำปรึกษา บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ จะทำให้การรับรู้รายได้ของผลิตภัณฑ์ประกันภัยมีความสอดคล้องระหว่างผลิตภัณฑ์ประกันภัยแต่ละประเภท และมาตรฐานบัญชีอื่น อาทิ IFRS 15 เป็นต้น อีกทั้งยังเปิดทางให้ผู้วิเคราะห์รายงานทางการเงินสามารถตรวจสอบสมมติฐานการประเมินมูลค่าหนี้สินได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ บริษัทประกันภัยจะต้องเตรียมความ พร้อมอย่างมาก โดยเฉพาะระบบ IT จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถนำข้อมูลโดยละเอียดไปใช้ได้ และการหา vendor ที่มีความสามารถและเหมาะสมในการสร้างระบบการบันทึกข้อมูลในรูปแบบดังกล่าว นอกจากนี้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องวิธีการประเมินและผลกระทบของประเมินมูลค่าหนี้สินนี้ยังมีน้อย และมาตรฐานบางส่วนยังขาดความชัดเจน ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่สอดคล้องกันในเรื่องหนี้สินจากผลิตภัณฑ์ประกันภัยระหว่างบริษัทประกันภัยได้
โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ให้ข้อเสนอแนะว่าในการประชุม Asian Insurance Forum ครั้งต่อไปควรให้ความสำคัญกับประเด็นแนวทางการกำกับบริษัทประกันภัยและระดับการเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมประกันภัยในแต่ละประเทศภายใต้มาตรฐานบัญชี IFRS 17 โดย ดร.สุทธิพล ได้เสนอให้เพิ่มหัวข้อการกำกับดูแลเรื่อง Market Conduct ในด้านประกันภัย ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดย สำนักงาน คปภ. ยินดีให้ข้อแนะนำและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องนี้ เพื่อนำแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดมาปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลให้มีความพอดีและเกิดประสิทธิภาพ ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว
เลขาธิการ คปภ. ยังได้อธิบายถึงความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมการปรับเปลี่ยนมาตรฐานบัญชี IFRS 17 ของประเทศไทย ซึ่ง สำนักงาน คปภ. ได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการกับภาคธุรกิจเพื่อสร้างความเข้าใจกลไกและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการวัดมูลค่าหนี้สิน การรับรู้รายได้ และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งผู้เข้าร่วมระดับปฏิบัติการจะเป็นฝ่าย IT บัญชี และฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัย นอกจากนี้ยังมีการจัดสัมมนากับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันภัยเพื่อสร้างความตระหนักถึงระดับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและความสำคัญของการเตรียมความพร้อม อาทิ บุคลากรด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย ระบบ IT ลักษณะแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัย และนโยบายการลงทุน เป็นต้น ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะมีการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานบัญชีต่อบริษัทประกันภัยแต่ละรายในอนาคตเพื่อช่วยบริษัทประกันภัยในการเตรียมความพร้อม
ในโอกาสเดียวกัน เลขาธิการ คปภ. ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MoU) ร่วมกับ Mr. Clement Cheung Wan-ching, Chief Executive Officer ของ Insurance Authority ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลภาคประกันภัยของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งการลงนามในบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และอุตสาหกรรมประกันภัยระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของทั้งสองประเทศ รวมทั้งร่วมมือทางด้าน วิชาการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านประกันภัยตามกรอบของกฎหมาย เพื่อส่งเสริมตลาดประกันภัยให้มีความมั่นคงอันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ โดยได้รับเกียรติจาก regulators ด้านประกันภัยจากประเทศต่างๆ ที่ เข้าร่วมประชุม ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
“การลงนามในบันทึกความเข้าใจนี้จะเป็นก้าวที่สำคัญในการเสริมศักยภาพของธุรกิจประกันภัย และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ คปภ. โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ของฮ่องกง ซึ่งมีหลายเรื่องคล้ายๆกับ ของไทยและเขาสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีมากซึ่งหากเราสามารถนำเอาเทคนิคที่เหมาะสมมาใช้ได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง” ดร. สุทธิพล กล่าวในตอนท้าย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *