สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย ธุรกิจทุกประเภทย่อมมีคนกลางเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ธุรกิจประกันภัยไม่ว่าจะเป็นการประกันชีวิตหรือการประกันวินาศภัยก็เช่นกัน จะมีคนกลางเข้ามาช่วยจัดการให้มีการทำสัญญาขึ้นระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกันภัย อาชีพนี้มีมาช้านานแล้ว แต่ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นนายหน้าทั่วไป หรือตัวแทนนายหน้า ล้วนแล้วแต่มีหน้าที่และหลักปฏิบัติที่คล้ายคลึงกันหรือจะเรียกว่าเหมือนกันก็ว่าได้ ต่อมาเมื่อพุทธศักราช 2510 ได้มีพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยขึ้น ได้มีการแบ่งแยกระบุชัดเจนระหว่างตัวแทนกับนายหน้า ซึ่งอาจประกอบการโดยคนเดียว หรือรวมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปทำการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ได้ ทั้งนี้เพื่อประสงค์ให้มีการพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มีความมั่นคงและก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ในสมัยนั้น มีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ประกอบอาชีพเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต นำโดย นายเจนกิจ ตันสกุล ได้เล็งเห็นถึงผลประโยชน์ในการรวมตัวกัน เพื่อพัฒนาการประกอบอาชีพนายหน้าประกันภัยให้เป็นกลุ่มทำงานที่มีประสิทธิภาพพร้อมทั้งการจัดการในการเอาประกันภัยอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าด้านเบี้ยประกันภัยหรือการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน จึงได้มีการก่อตั้ง สมาคมนายหน้าประกัน (Insurance Brokers Association )ขึ้น เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2512 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้
- เพื่อคุ้มครองส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจและสวัสดิภาพของนายหน้าประกันภัย และร่วมมือกับหน่วยราชการ บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย ในอันที่จะช่วยให้กิจการประกันภัยมีคุณค่าต่อสังคมกว้างขวางยิ่งขึ้น
- เพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติ ศักดิ์ศรี และความสามัคคีในระหว่างมวลสมาชิก
- สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขอุปสรรค ข้อขัดข้องต่างๆ รวมทั้งการเจรจาทำความตกลงกับบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
- ทำการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบอาชีพนายหน้าประกันภัย ส่งเสริมคุณภาพของนายหน้าประกันภัยให้เข้ามาตรฐาน แลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้ในทางวิชาการ การขยายงาน ตลอดจนข่าวสารอันเกี่ยวกับอาชีพนายหน้าประกันภัย
- เพื่อให้ความช่วยเหลือและบริจาคในการกุศลต่อผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือโดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย
- เพื่อร่วมมือ ติดต่อ หรือเป็นสมาชิกกับสมาคมฯ อื่นทั่วโลก ที่ทำงานหรือมีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกับสมาคมนี้
ส่วนวัตถุประสงค์ร่วมกันของมวลสมาชิกสมาคมนายหน้าประกันภัยซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อสังคม คือ
- ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ รวมถึงความคุ้มครองที่เหมาะสมกับผู้เอาประกันภัย
- ศึกษากรมธรรม์ และต่อรองเงื่อนไข พร้อมทั้งเบี้ยประกันภัยที่เป็นธรรมให้กับผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันภัย
- ดูแลเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้เอาประกันภัย
- จัดหาแหล่งที่สามารถรับประกันภัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
- ให้ความรู้และประสบการณ์กับสถาบันการศึกษาต่างๆ
- การสร้างงานให้กับสังคม
- ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างสมาชิก หรือระหว่างสมาชิกกับบุคคลภายนอก ในการประกอบอาชีพนายหน้าประกันภัย
- เพื่อส่งเสริมสุขภาพ พลานามัย การบันเทิง และการกีฬา แก่สมาชิกสมาคม
- ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
หลังจากการก่อตั้งสมาคมเรียบร้อยแล้ว มีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกน้อยมาก เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีผู้รู้จักธุรกิจนายหน้าประกันภัยดี ดังนั้น สมาคมก็ขาดกำลังสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นด้านปัจจัย หรือบุคลากรก็ตาม ความเจริญเติบโตของสมาคมจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า สำนักงานของสมาคมฯ ก็ต้องอาศัยสถานที่ของสมาชิกอยู่ ในสมัยแรกที่ก่อตั้งสมาคมใหม่ๆ มีสมาชิกเข้าร่วมประมาณ 12 บริษัท และได้คัดเลือกให้ นายเจนกิจ ตันสกุล เป็นนายกสมาคมฯ คนแรก ระยะนั้นนายกและคณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ ดำรงตำแหน่งปีต่อปี (แต่ในปัจจุบันนี้ ดำรงตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี) ได้มีการสับเปลี่ยนนายกสมาคมฯ กันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ส่วนสมาชิกก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ บ้างก็เข้าใหม่ บ้างก็ลาออก หรืออาจเลิกกิจการไป ตั้งแต่พุทธศักราช 2512 ถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาประมาณ 40 ปี มีนายกสมาคมปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่
- นายเจนกิจ ตันสกุล (พ.ศ. 2512 และ พ.ศ. 2520 – 2522)
- ม.ล. สมศักดิ์ กำภู (พ.ศ. 2522 – 2528)
- นายสมศักดิ์ ดุรงค์พันธ์ (พ.ศ. 2528 – 2530)
- นายอุดม รัมมณีย์ (พ.ศ. 2530-2534)
- นายพัลลภ อิศรางกูร ณ อยุธยา (พ.ศ. 2534 – 2536)
- นายเปรมศักดิ์ คล้ายสังข์ (พ.ศ. 2536 – 2540)
- นายพิชิต เมฆกิตติกุล (พ.ศ. 2540 – 2546)
- นางวรรณี คงภักดีพงษ์ (พ.ศ. 2546 – 2550)
- นายเรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ (พ.ศ. 2550 – 2554)
- นายปานวัฒน์ กูรมาภิรักษ์ (พ.ศ 2554 – 2556)
- นายจิตวุฒิ ศศิบุตร (พ.ศ 2556 – 2560)
- นายชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ (พ.ศ. 2560-2564)
- นายจิตวุฒิ ศศิบุตร (พ.ศ.2564-ปัจจุบัน)
คณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ ต่างก็พยายามสานต่อนโยบายของคณะก่อนๆ พยายามปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนแปลง พัฒนาให้วิชาชีพนายหน้าประกันภัยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จัดระบบการบริหาร ทิศทางให้รองรับตลาดเสรีประกันภัย และเป็นที่ยอมรับจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย และกรมการประกันภัย ( สำนักงาน คปภ. ในปัจจุบัน) สมาคมฯ มีโอกาสเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การกำหนดยุทธศาสตร์การประกันภัยแห่งชาติกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้เข้าร่วมการพัฒนาแก่วงการธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจนายหน้าประกันภัยให้เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย ทางสมาคมฯ ได้พยายามวางแผนและดำเนินการเพิ่มพูนประโยชน์ทั้งด้านการบริการ ความรู้ด้านประกันภัย และบริหารแก่สมาชิก เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพ และขอความร่วมมือร่วมใจกับบรรดาสมาชิกในการสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับสมาคมฯ เป็นกำลังในการพัฒนา สร้างสรรค์ธุรกิจนายหน้าประกันภัยในอนาคต ในขณะเดียวกันทำให้สำนักงาน คปภ. มองเห็นคุณค่าของสมาคมฯ อีกด้วย และเพื่อให้มีความแตกต่างจากนายหน้าที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอย่างชัดเจน สมาคมฯ ได้วางวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลัก เพื่อให้หมู่มวลสมาชิกช่วยกันปฏิบัติดังนี้
- จรรยาบรรณของสมาชิก ซึ่งนำเสนอไปยังกรมการประกันภัย ( สำนักงาน คปภ. ปัจจุบัน) จึงขอถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ได้แก่
-
- สมาชิกฯ จะประกอบธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และไม่สนับสนุนการกระทำอันเป็นความผิดตามกฎหมาย ผิดศีลธรรมและผิดจริยธรรมใดๆ
-
- สมาชิกฯ จะปฏิบัติต่อลูกค้าและผู้รับประกันภัยอย่างเป็นธรรม และยึดถือประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ
-
- สมาชิกฯ จะปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิชาชีพและพัฒนาความรู้ ความสามารถให้รองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจโดยตลอด
-
- สมาชิกฯ จะประกอบธุรกิจโดยมีระบบการดำเนินงานที่เป็นมาตรฐาน มีการควบคุมที่ดี มีความโปร่งใสเพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้
- สมาชิกฯ จะรักษาความลับของลูกค้าที่ตนได้ล่วงรู้มาจากการดำเนินธุรกิจอย่างยิ่งยวด ไม่เปิดเผยแก่บุคคลภายนอกอื่นใด ยกเว้นเป็นการเปิดเผยตามหน้าที่หรือตามกฎหมายสมาชิกฯ จะไม่ใช้ถ้อยคำหรือการแสดงออกในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์กิจการของสมาชิกฯ ที่เกินจริง หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
-
-
ขอความร่วมมือจากสมาชิก ให้ช่วยกันชักชวน นายหน้านิติบุคคลอื่นๆ ให้เข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญช่วยให้สมาคมฯ เป็นปึกแผ่น มีความมั่นคงยิ่งขึ้น
เมื่อปี พ.ศ. 2545 สมาคมฯ สมัครเข้าเป็นสมาชิกของ Council of International Insurance Brokers Associations(CIIBA) ซึ่งเป็นสหพันธ์นานาชาติที่มีสมาชิกเป็นสมาคมนายหน้าประกันภัยของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งนี้เมื่อมีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น จึงได้แยกเป็น CAPIBA ( COUNCIL OF ASIA PACIFIC INSURANCE BROKERS ASSOCIATIONS) ซึ่งเป็นสมาชิกของ WFII (World Federation of Insurance Intermediaries) ณ วันนี้ สมาคมฯ มีสมาชิกทั้งหมด 84 บริษัท และได้เปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย (Thai Insurance Brokers Association) ซึ่งได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550