คปภ. ปลุกประกันภัย“ท่องเที่ยว-โลจิสติกส์-อุตสาหกรรมขนส่งผ่านแดน”ด่านช่องเม็ก

คปภ. ปลุกประกันภัย“ท่องเที่ยว-โลจิสติกส์-อุตสาหกรรมขนส่งผ่านแดน”ด่านช่องเม็ก

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา“โครงการประกันภัยโลจิสติกส์กับอุตสาหกรรมขนส่งผ่านแดน”พร้อมทั้งปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิทัล” เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 ณ ห้องประชุมด่านศุลกากรช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์และดำเนินการ ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศและนำเข้ามาใช้ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยเจ้าของรถไม่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร เจ้าของรถต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย ทั้งนี้ตามจำนวนเงิน หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง รวมทั้งเพื่อให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว มีความรู้ ความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากระบบการประกันภัย ในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสมกับธุรกิจ ตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ โดยได้รับเกียรติจากนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีมาร่วมงานและกล่าวต้อนรับ
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 100 คน ประกอบด้วย ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว สมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี  สำนักงานขนส่งจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุบลราชธานี หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรช่องเม็ก เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรช่องเม็ก และนายด่านสากลวังเต่า แขวงจำปาศักดิ์
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิทัล” ตอนหนึ่งว่า “สภาพสังคมปัจจุบันก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี จาก“FinTech” สู่ “InsurTech” ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระบบ กล่าวคือ ประการแรก พัฒนาการของเทคโนโลยีช่วยย่นระยะเวลาในการติดต่อสื่อสารระหว่างบริษัทประกันภัยและลูกค้าให้สั้นลง ลูกค้าสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้อย่างหลากหลายและรวดเร็ว  ในขณะที่บริษัทประกันภัยสามารถให้บริการและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว มีการนำเทคโนโลยีโดรนมาใช้ในการสำรวจภัย หรือการติดต่อลูกค้าผ่านระบบวีดีโอและเสียงในการให้บริการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
ประการที่สอง มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบ real time เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดมาใช้งาน หรือการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ให้เข้ามามีบทบาทในเรื่องของการวิเคราะห์และกรองข้อมูลต่างๆของบริษัทประกันภัย  ไม่ว่าจะเป็นการทำนายโอกาสและความน่าจะเป็นที่จะเกิดวินาศภัยซ้ำอีกในอนาคต หรือให้ความเห็นในเบื้องต้นเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และส่งสัญญาณแจ้งถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีมาผนวกกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคเพื่อใช้ประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงด้านการประกันภัย เช่น การใช้อุปกรณ์ wearable device ในการเก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้เอาประกันภัย หรือติดตั้งอุปกรณ์เก็บข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ของผู้เอาประกันภัยในรถยนต์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับพฤติกรรมความเสี่ยงของลูกค้า
จากการที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและแอพพิเคชั่นด้านประกันภัยทำให้ธุรกิจประกันภัยสามารถเข้าถึงประชาชนและลูกค้าได้ง่ายมากขึ้น ในขณะที่ความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัยของประชาชนยังไม่ดีพอ จึงจำเป็นที่สำนักงาน คปภ. ต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยเชิงรุก เพื่อเข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัย เมื่อเกิดความเดือดร้อนจากอุบัติเหตุ อุบัติภัย หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังปรากฎให้เห็นในหลายต่อหลายกรณี เช่น เรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิต 47 ราย ไฟไหม้หอพักที่จังหวัดเชียงราย นักศึกษาเสียชีวิต 13 ราย รถทัวร์ประสานงากันที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิต 18 ราย เป็นต้น
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ และผู้ประกอบการท่องเที่ยว มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบต่างๆ หากเกิดภัยโดยไม่มีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดีพอ ก็อาจส่งผลกระทบทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก หรือสิ้นเนื้อประดาตัว จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจ ในการบริหารความเสี่ยงด้านประกันภัย รวมทั้งจำเป็นต้องทราบถึงประเภทของประกันภัย ที่มีทั้งแบบที่กฎหมายบังคับให้ทำ และแบบสมัครใจ สำหรับกรณีที่กฎหมายบังคับให้ทำเช่น เจ้าของรถยนต์จะต้องทำประกันภัยภาคบังคับ คือการทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ถ้าไม่ทำจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
กรณีผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ต้องจัดให้มีการทำประกันภัยอุบัติเหตุ ให้กับนักท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์ ในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว เว้นแต่ได้มีการประกันอุบัติเหตุไปแล้ว ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุในระหว่างระยะเวลาการเดินทาง ทำให้เกิดการเสียชีวิต บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยก็ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้รายละ 1 ล้านบาท กรณีเกิดการบาดเจ็บการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตามจริง รายละไม่เกิน 5 แสนบาท
นอกจากนี้ยังมีการทำประกันภัยแบบภาคสมัครใจที่สามารถเลือกซื้อได้ตามความต้องการ เช่น การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ การประกันสินค้าที่ขนส่งภายในประเทศ การประกันภัยแบบ Multi Model Transport ที่เป็นประกันภัยความรับผิดที่คุ้มครองความรับผิดของผู้รับส่งสินค้าระหว่างประเทศ หากเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่ง รวมทั้งการประกันภัยความรับผิดของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นการประกันภัยความรับผิดอีกประเภทหนึ่ง และถือเป็นกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่ที่ได้รับการอนุมัติจาก สำนักงาน คปภ. โดยให้ความคุ้มครองเฉพาะกลุ่มของผู้ประกอบการโลจิสติกส์เต็มรูปแบบ ตั้งแต่มีการรับส่งสินค้าเข้ามาในโกดังเพื่อจัดเก็บและเตรียมการขนส่ง การจัดเก็บสินค้า การบรรจุสินค้าและอื่นๆ อันเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ รวมถึงความรับผิดต่อสินค้าในขณะทำการขนส่งด้วย และอีกประเภทหนึ่งคือการประกันภัยความรับผิดของผู้ขนส่ง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของธุรกิจการค้าที่ต้องมีการขนส่งสินค้าเป็นประจำ รวมถึงผู้ประกอบการรับจ้างขนส่ง ดังนั้นระบบบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันภัยจึงมีบทบาทสำคัญต่อผู้ประกอบการโลจิสติกส์และการค้า การขนส่งผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศ CLMV เป็นอย่างมาก”
ต่อจากนั้นเป็นการเสวนา ในหัวข้อ “การใช้ระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงด้านโลจิสติกส์กับอุตสาหกรรมการค้าและบริการเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน” โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายศักดา พิริยะกิจไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอุบลราชธานี นายจอม จีระแพทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ สำนักงาน คปภ. นางกาญจนา ศรีคราม ผู้อำนวยการภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) และนายนภดล มีสุขเสมอ คณะกรรมการประกันภัยทางทะเลและโลจิสติกส์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย
นอกจากนี้ เลขาธิการ คปภ. ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนรถ Big Bike จำนวน 30 คัน ข้ามแดนไปยังด่านสากลวังเต่า แขวงจำปาศักดิ์ เพื่อเยี่ยมชมบูธบริษัทประกันภัยของประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว ต่อจากนั้นข้ามฝั่งกลับมาเขตแดนไทย เพื่อร่วมประชุมและรับฟังสภาพปัญหาเกี่ยวกับประกันภัยโลจิสติกส์และรถข้ามแดน ณ ห้องประชุมด่านศุลกากรช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน บริษัทประกันภัย ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นายอำเภอ นายด่านศุลกากรช่องเม็ก ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประกันภัยโลจิสติกส์และรถข้ามแดน โดยพบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจรถยนต์ข้ามแดนยังขาดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน รวมทั้งช่องทางการจำหน่ายประกันภัยเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่จะทำประกันภัยยังมีข้อจำกัด รวมทั้งผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีจำหน่ายไม่ตรงตามความต้องการของผู้ที่จะทำประกันภัย ดังนั้นจึงได้เก็บข้อมูลและสภาพปัญหาในทางปฏิบัติเพื่อหาแนวทางแก้ไข ในรูปแบบของการจัดทำ MOU กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกแนวปฏิบัติ รวมทั้งปรับปรุงผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความเหมาะสมและสามารถตอบโจทย์ความต้องการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
ที่มา : https://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/88916

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *