ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ สำนักงาน คปภ. ให้ความสำคัญมาโดยตลอดคือการส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่หลากหลาย สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดความต้องการและสภาพความเสี่ยงใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบประกันสุขภาพ โดยหนึ่งในข้อเสนอแนะที่ได้จากผลการศึกษาวิจัย คือการเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยในปัจจุบันที่มีจำนวนกว่า 12 ล้านคน หรือคิดเป็นถึงร้อยละ 17 ของประชากรทั้งหมด โดยได้มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี 2565 หรืออีกเพียง 4 ปีข้างหน้าจะมีประชากรสูงอายุถึง 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นที่มาของโครงการศึกษาวิจัยการประกันภัยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่ สำนักงาน คปภ. บูรณาการความร่วมมือกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำผลที่ได้รับเสนอต่อกระทรวงการคลังพิจารณากำหนดนโยบายการพัฒนาการประกันภัยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุต่อไป
ทั้งนี้ โครงการศึกษาวิจัยการประกันภัยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุได้เริ่มตั้งแต่การศึกษาและวิเคราะห์ภาพรวมและแนวโน้มสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย นโยบายและมาตรการของทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อดูแลและรองรับผู้สูงอายุในต่างประเทศ เพื่อหาโอกาสในการนำการประกันภัยมาเป็นเครื่องมือรองรับสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับรูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่างๆ สิทธิประโยชน์ อายุการรับประกันภัยปัจจัยในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยที่ชัดเจน ข้อดี-ข้อเสีย จัดทำข้อเสนอแนะระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับแนวนโยบายของภาครัฐ ตลอดจนกำหนดมาตรการสนับสนุนเพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการประกันภัยเพื่อรองรับสังคมสูงอายุประสบผลสำเร็จ
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 เลขาธิการ คปภ. เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะผู้วิจัยจากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำโดย ดร. วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ เพื่อรับฟังผลการศึกษาวิจัย โดยสำนักงาน คปภ. ได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งหลายประการ โดยเฉพาะข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม 3 แบบ
แบบที่ 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัยการดูแลระยะยาว ซึ่งจะจ่ายผลประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเกิดภาวะทุพพลภาพ อันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพหรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป หรือมีความพิการ ทั้งนี้ ภาวะทุพพลภาพในการทำกิจวัตรประจำวัน หมายถึง ภาวะจำกัดหรือการขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน
แบบที่ 2 ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญเป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตสัญญา จะจ่ายเงินรายปีตามการทรงชีพของผู้รับเงินรายปี โดยบริษัทสัญญาว่า ตราบใดที่ผู้รับเงินรายปียังทรงชีพอยู่ บริษัทจะจ่ายเงินรายปีให้ตลอดไปจนกว่าจะเสียชีวิต หรือจ่ายให้ชั่วระยะเวลาหนึ่งตามที่ตกลงไว้ เงินรายปีนี้อาจจ่ายเป็นงวดรายปี รายครึ่งปี หรือรายเดือนก็ได้ และจำนวนเงินที่จ่ายอาจจะคงที่ เพิ่มขึ้น หรือลดลงได้ ซึ่งการประกันชีวิตรูปแบบนี้มีอยู่แล้วในตลาดปัจจุบัน แต่ควรมีการปรับปรุงเงื่อนไขความคุ้มครองให้ทันสมัย และเหมาะสมกับความต้องการของผู้เอาประกันภัยที่เปลี่ยนแปลงไป
แบบที่ 3 การจำนองแบบย้อนกลับ (Reverse Mortgage) ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของการจำนองโดยที่เจ้าบ้านสามารถกู้เงินเท่ากับมูลค่าบ้าน โดยผู้ให้กู้จะเป็นผู้ชำระเงินรายเดือนหรือวงเงินสินเชื่อให้แก่ผู้กู้โดยใช้บ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน จนกระทั่งผู้กู้เสียชีวิต หรือย้ายออกจากบ้าน บ้านหลังนั้นก็จะตกเป็นของผู้ให้กู้เพื่อขายทอดตลาดต่อไป ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ธนาคารออมสินเปิดตัวสินเชื่อที่อยู่อาศัยแบบการจำนองย้อนกลับสำหรับผู้สูงวัย ไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 โดยจะมีการศึกษาวิเคราะห์ผลการดำเนินการที่ผ่านมาตลอดจนข้อดี-ข้อเสียและความเหมาะสมกับประเทศไทยต่อไป
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้ให้ข้อแนะนำต่อการเสนอผลการวิจัย เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม และชัดเจน โดยให้กำหนดกรอบการทำงานเป็น 3 ระยะ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งต้องมีการลำดับความสำคัญ กำหนดรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและเป็นไปได้สำหรับประเทศไทย รวมทั้งการระบุหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจะได้บูรณาการการทำงานอย่างเข้มข้น ต่อไป
“การรับมือกับสภาพสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์นั้น มาตรการด้านการประกันภัยถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงของตัวผู้สูงอายุเองแล้ว ยังสามารถช่วยลดภาระด้านสวัสดิสงเคราะห์ของภาครัฐลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อให้เกิดนโยบายและมาตรการด้านการประกันภัยเพื่อรองรับสังคมสูงอายุได้อย่างเหมาะสม สำนักงาน คปภ. จึงต้องเร่งบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การขับเคลื่อนในเชิงนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนทุกระดับให้ตระหนักถึงความสำคัญของการออมและใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัยอย่างเต็มที่” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา : http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/88879