ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าปัจจุบันวิชาชีพคนกลางประกันภัยถือได้ว่าได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 มีผู้สนใจขอรับใบอนุญาต และต่ออายุใบอนุญาต ตัวแทน-นายหน้าประกันภัย ประเภทบุคคลธรรมดาทั้งระบบรวมทั้งสิ้นสูงถึง 128,566 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.12 โดยแบ่งเป็นไตรมาสที่ 1/2561 จำนวน 64,593 ราย ขยายตัวร้อยละ 6.87 และไตรมาสที่ 2/2561 จำนวน 63,973 ราย ขยายตัวลดลงร้อยละ 2.26 ดังนั้น จากบทบาทที่สำคัญของคนกลางประกันภัยในการเป็นผู้นำสารที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข้อมูลและบริการด้านการประกันภัยถึงมือประชาชน สำนักงาน คปภ. จึงมีนโยบายให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำกับดูแลคุณภาพของตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ.ได้มีทั้งมาตรการส่งเสริมและกำกับดูแลให้ตัวแทน/นายหน้าประกันภัยมีมาตรฐานจรรยาบรรณและแนวปฏิบัติที่ดีในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่อประชาชน ตลอดจนดูแลประชาชน ผู้เอาประกันภัยภายหลังที่มีการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อให้ประชาชนในวงกว้างเกิดความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยและใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัยได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง
สำหรับระบบการทำงานเพื่อรองรับการให้บริการออกใบอนุญาตนั้น เนื่องจากสำนักงานได้รับการรับรองระบบบริหารงานคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 สำหรับขอบข่าย “การบริการออกใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต ตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต และนายหน้าประกันวินาศภัย ณ สำนักงาน คปภ. เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร” ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2560 ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2563 และต้องมีการตรวจประเมินเพื่อรับการรับรองรักษาระบบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตามวัตถุประสงค์คุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 ในส่วนของใบอนุญาตประเภทบุคคลธรรมดา ได้กำหนดระยะเวลาการออกใบอนุญาตซึ่งกำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลา 15 นาที และจำนวนข้อร้องเรียนการให้บริการไม่เกินร้อยละ 0.50 ของจำนวนใบอนุญาตในแต่ละเดือน ซึ่งในครึ่งปีแรกของปี 2561 สำนักงาน คปภ. สามารถดำเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์คุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9001 : 2015
“ในเรื่องการให้บริการขอรับ/ขอต่อใบอนุญาตคนกลางประกันภัยนั้น สำนักงาน คปภ. มิได้คำนึงถึงความสำเร็จในด้านปริมาณอย่างเดียว แต่คำนึงถึงคุณภาพของการที่มีคนกลางประกันภัยที่มีมาตรฐานและมีจรรยาบรรณที่ดี รวมทั้งมุ่งไปที่การคุ้มครองสิทธิประกันโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัยเป็นสำคัญ โดยสำนักงาน คปภ. ได้กำหนดนโยบายคุณภาพไว้ว่า “จะมุ่งมั่นให้บริการด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง คุ้มครองประชาชน” โดยตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนตามสัญญาประกันภัย ซึ่งมุ่งเน้นกำกับคุณภาพจรรยาบรรณ และการปฏิบัติงานของคนกลางประกันภัย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรสามารถเชื่อมั่นอย่างสมเหตุสมผลว่าการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. จะสามารถรักษาสมดุลการกำกับดูแล และส่งเสริมพัฒนาธุรกิจประกันภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส น่าเชื่อถือ และคุ้มครองประชาชนให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากการประกันภัยอย่างครบถ้วน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา : http://www.oic.or.th