คปภ. ติวเข้มเทคนิคภาคปฏิบัติการสอบสวน วินิจฉัยข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อรับมือกลโกงและการฉ้อฉลประกันภัยยุคดิจิทัล

คปภ. ติวเข้มเทคนิคภาคปฏิบัติการสอบสวน วินิจฉัยข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อรับมือกลโกงและการฉ้อฉลประกันภัยยุคดิจิทัล

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรด้านการสอบสวน การวินิจฉัยข้อเท็จจริงและการรวบรวมพยานหลักฐานทางคดี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 ณ ห้องประชุมเลอโลตัส 1 โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร
การอบรมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรด้านการสอบสวน การวินิจฉัยข้อเท็จจริงและการรวบรวมพยานหลักฐานทางคดี ได้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม 2561 ซึ่งเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการที่เน้นการเสริมสร้างทักษะและให้ความรู้เกี่ยวกับการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีอาญาและคดีปกครองแก่ผู้บริหารและพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีการฝึกอบรมทั้งด้านวิชาการและด้านฝึกปฏิบัติ (workshops) เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้และเกิดทักษะเกี่ยวกับการได้มาซึ่งพยานหลักฐานและการรวบรวมพยานหลักฐาน และสามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานในสถานการณ์อันแท้จริงได้ ส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยอย่างเป็นธรรม ตลอดจนการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจประกันภัยให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
ทั้งนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดการอบรมฯว่า พันธกิจหลักของสำนักงาน คปภ. คือการกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนได้รับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์อย่างเป็นธรรม ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในทางอาญาและทางปกครอง จึงเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยให้ดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบของกฎหมายและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งจากพัฒนาการอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจประกันภัยเปลี่ยนไป แม้จะเกิดความสะดวกในการให้บริการประกันภัยแก่ประชาชน แต่ก็มีภัยที่เกิดจากการโกงและการฉ้อฉลประกันภัยรูปแบบใหม่ๆเกิดตามมา ดังนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงาน คปภ. ทั้งจากสายตรวจสอบ สายตรวจสอบคนกลางประกันภัย สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สายกฎหมายและคดี และพนักงานเจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาค ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาการกระทำของบริษัทประกันภัย คนกลางประกันภัย ตลอดจนถึงผู้เอาประกันภัย จึงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมาย องค์ประกอบของกฎหมาย การรวบรวมข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐาน และการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมไปจนถึงการออกคำสั่งทางปกครอง
สำนักงาน คปภ. จึงจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรด้านการสอบสวน การวินิจฉัยข้อเท็จจริงและการรวบรวมพยานหลักฐานทางคดีในครั้งนี้ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ของสายกฎหมายและคดี และสายงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้ความเข้าใจวิธีการเตรียมข้อมูลเอกสารหลักฐาน การสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐานทางคดี รวมถึงการวินิจฉัยข้อเท็จจริงปรับข้อกฎหมาย และสามารถนำวิธีการไปใช้ปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบ และรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งเพื่อให้มีแนวทางในการปฏิบัติงานที่ถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมาย เพื่อความชัดเจน ครบถ้วนและเพียงพอในการนำไปสู่การวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
สำหรับการอบรมครั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้รับความอนุเคราะห์จากท่านชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง มาให้ความรู้ในภาคเช้าของวันที่ 22 สิงหาคม 2561 ในเรื่องการเตรียมข้อมูลและรวบรวมพยานหลักฐานในคดีปกครอง หลักการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการค้นหาข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุด หลักการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดีปกครอง ทั้งการเรียกให้หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล และการขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานหรือ
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง มาให้ถ้อยคำ หรือนำพยานหลักฐานมาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของเจ้าหน้าที่อย่างครบถ้วน ซึ่งขั้นตอนในการเตรียมการและการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองถือเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ หากพนักงานเจ้าหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ย่อมส่งผลให้การวินิจฉัยหรือคำสั่งทางปกครองของ สำนักงาน คปภ. และนายทะเบียนประกันภัยมีความถูกต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ส่วนภาคบ่ายได้รับเกียรติจากพันตำรวจโท ปภินวิช อรสว่าง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีการเงินการธนาคาร พร้อมคณะวิทยากรจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ มาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสอบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐานเฉพาะด้านในคดีการเงินการธนาคาร ซึ่งคดีลักษณะนี้จะมีความสลับซับซ้อนและมีมูลค่าความเสียหายสูง มีการใช้เทคนิคทางด้านวิชาการหรือวิชาชีพ ผู้กระทำความผิดมักจะเป็นผู้มีคุณวุฒิและวัยวุฒิ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการทางบัญชี หรือเป็นผู้มีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจหรือการเมืองในระดับประเทศ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีทักษะในการตรวจสอบหรือพิสูจน์เอกสารทางการเงิน การติดตามร่องรอยทางการเงิน เพื่อให้การรวบรวมพยานหลักฐานมีความถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นไปด้วยความยุติธรรม ในอันที่จะทำให้การรวบรวมพยานหลักฐานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้
จากนั้นในวันที่ 23 สิงหาคม 2561 คณะวิทยากรจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำโดย พันตำรวจเอก ดร.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ รองผู้บังคับการ กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และพันตำรวจเอก ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการ กองคดีอาญา กงสุลฝ่ายตำรวจประจำนครคุนหมิง ได้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสอบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐานคดีอาญา หลักการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐาน ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรม Workshops วิธีสังเกตและจดจำรูปพรรณสัณฐาน มีการสร้างสถานการณ์ให้มีบุคคลเดินเข้ามาในห้องอบรมในขณะที่วิทยากรบรรยาย โดยผู้เข้ารับการอบรมไม่ทราบสถานการณ์นี้มาก่อน ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่สามารถให้รายละเอียดรูปพรรณสัณฐานของบุคคลผู้นั้นได้ ต่อมาในภาคบ่ายได้มีการแบ่งกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมเป็น 7 กลุ่ม เพื่อฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการรวบรวมข้อเท็จจริงและตรวจสอบพยานหลักฐานที่รวบรวมได้จากเรื่องร้องเรียน รวมทั้งการนำเสนอประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้อง ท้ายสุดวิทยากรได้จัดให้มีการฝึกปฏิบัติจากการจำลองเหตุการณ์การรับเรื่องร้องเรียน วิธีการเจรจากับผู้ร้องเรียนที่มาสอบถามหรือติดตามเรื่องร้องเรียน โดยมีผู้เข้ารับการอบรมเข้าร่วมในสถานการณ์จำลองด้วย  ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้ารับการอบรมเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ การรวบรวมพยานหลักฐานทั้งในคดีอาญาและคดีปกครอง จะมีหลักการที่สำคัญอย่างเดียวกัน คือทำอย่างไรให้การรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นของพนักงานเจ้าหน้าที่มีข้อเท็จจริง และหลักฐานครบถ้วน ถูกต้อง ชัดเจน แม่นยำ และที่สำคัญคือต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย อีกทั้งการปฏิบัติงานซึ่งอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและผลประโยชน์ต่าง ๆ อาจทำให้สำนักงาน คปภ. ตลอดถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเป็นต้องนำคดีไปสู่ศาล คือ เป็นผู้ฟ้องคดี หรืออาจเป็นผู้ถูกฟ้องคดีได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นการเตรียมข้อมูล เอกสารหลักฐานการสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐานทางคดี รวมถึงการวินิจฉัยข้อเท็จจริงปรับข้อกฎหมาย และสามารถนำวิธีการไปใช้ปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบ และรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีแนวทางปฏิบัติงานอย่างละเอียด ถูกต้อง และเป็นธรรม ส่งผลให้เกิดประโยชน์ในการนำไปใช้กับธุรกิจประกันภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและที่สำคัญที่สุดคือ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ นอกจากนี้ ในการอบรมสัมมนาดังกล่าว จะเป็นแนวทางเพื่อการขยายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอีกด้วย
ที่มา : http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/88730

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *