• เพิ่มกลไกจัดการปัญหาการฉ้อฉลประกันภัย พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมประกันภัยรองรับอนาคต
• เตรียมเปิดศูนย์ Center of InsurTech, Thailand : CIT
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดให้ปี 2561 เป็นปีแห่ง “การยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย สู่มาตรฐานสากล” โดยมุ่งเน้นการกำกับตรวจสอบธุรกิจประกันภัย เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในระยะยาว ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างการเจริญเติบโตแบบยั่งยืน ด้วยการนำ “Sup Tech” เข้ามาประยุกต์ใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในยุค InsurTech เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกับปัญหาการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ประชาชนและอุตสาหกรรมประกันภัย นอกจากนี้ยังเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ผู้บริโภคโดยปรับรูปแบบการให้ความรู้ด้านการประกันภัย เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากระบบประกันภัยอย่างเต็มที่ และสามารถนำระบบประกันภัยมาช่วยในการบริหารความเสี่ยงต่างๆ ให้กับประชาชนตามนโยบายภาครัฐ รวมทั้งยังปรับรูปแบบการทำงานใหม่ เน้นการบูรณาการระหว่างสายงานในองค์กร ตลอดจนขับเคลื่อนภารกิจแบบประชารัฐ ซึ่งการดำเนินการสำคัญๆประกอบด้วย
ยกระดับการกำกับพฤติกรรมทางการตลาด ด้วยการปรับปรุงร่างประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยฯ เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการกำกับพฤติกรรมทางตลาด (Market Conduct) ของทั้งบริษัทประกันภัย และคนกลางประกันภัย เพื่อให้เป็นที่เชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชน และเพื่อให้ ผู้เอาประกันภัยได้รับการปฏิบัติที่ดีและเป็นธรรมจากระบบประกันภัย ในส่วนของคนกลางประกันภัยได้วางแนวทางให้คนกลางประกันภัยมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของระบบประกันภัยสู่สายตาประชาชน โดยได้มีการปรับปรุงกฎกติกาในการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ตลอดจนระบบตรวจสอบการปฏิบัติงานของคนกลางประกันภัยเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในกระบวนการขาย และการดูแลกรณีเกิดปัญหาในเรื่องประกันภัย ซึ่งสอดรับกับมาตรฐาน ICP 18 คนกลางประกันภัย (Intermediaries) และ ICP 19 พฤติกรรมการดำเนินธุรกิจ (Conduct of Business)สำหรับกรณีธนาคารขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ร่างประกาศฯปรับปรุงกติกาให้มีความรัดกุมขึ้น และเพิ่มช่องทางให้สามารถขายทางไปรษณีย์ และทางโทรศัพท์ นอกจากการขาย ที่สาขาธนาคารและทางออนไลน์ซึ่งเดิมสามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามร่างประกาศฯยังไม่เปิดช่องให้พนักงานธนาคารไปเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยนอกที่ตั้งของสาขาธนาคาร เนื่องจากความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ในกลุ่มต่างๆมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทำให้จำเป็นต้องมีการศึกษาถึงข้อดีข้อเสียเพื่อให้ได้ข้อยุติและเกิดความรอบคอบ ทั้งนี้บอร์ด คปภ.ได้ให้ความเห็นชอบร่างประกาศฯแล้ว ในการประชุม คปภ.ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอประธาน คปภ.ลงนามในประกาศเพื่อใช้บังคับต่อไป
นอกจากนี้ยังได้เสริมเขี้ยวเล็บให้ผู้บริโภคด้วยการยกร่างประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทประกันภัย ซึ่งสอดรับกับมาตรฐานสากลตาม ICP 20 เรื่องการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ (Public Disclosure) โดยกำหนดให้บริษัทประกันภัยต้องเปิดเผยข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุม และถูกต้องตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยและผู้มีส่วนร่วมในธุรกิจประกันภัยได้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงผลการดำเนินงาน และสถานะการเงินเพื่อให้เกิดการใช้กลไกตลาดในการกำกับดูแลธุรกิจ (Market Discipline) และสามารถเข้าใจถึงความเสี่ยงและการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย ทั้งนี้บอร์ด คปภ.ได้ให้ความเห็นชอบร่างประกาศนี้แล้ว ในการประชุม คปภ. ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอประธาน คปภ.ลงนามเช่นกัน
สำหรับประเด็นเรื่องการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังสร้างความเสียหายแก่ประชาชนผู้เอาประกันภัยและภาคอุตสาหกรรมประกันภัยเป็นอย่างมาก สำนักงานคปภ.ได้ดำเนินการจัดการมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การเสนอขอแก้ไขกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัย(กลุ่มที่ 1) ที่มุ่งเน้นให้ความคุ้มครองประชาชน โดยเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดทางอาญาฐานใหม่เรื่องการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ที่ประชุม ครม.แล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอ สนช. เพื่อพิจารณา และในปีนี้จะเห็นการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัย มากขึ้น โดยจะมีการบูรณาการการทำงานทั้งระหว่างสายงานของสำนักงาน คปภ. เอง และระหว่างสำนักงาน คปภ.กับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อจัดการกับปัญหา ที่ต้นเหตุและในเชิงระบบ โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษากรอบ หลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งมีเลขาธิการ คปภ. เป็นประธาน และกรรมการประกอบด้วย คณะผู้บริหารของสำนักงานคปภ. รวมทั้งมีบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ประธานกรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย นายสมาคมประกันวินาศภัยไทย นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน และนายกสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย ร่วมเป็นกรรมการด้วย นับเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งคณะกรรมการโดยเฉพาะเพื่อมาติดตามดูแลเรื่องการต่อต้านการฉ้อฉลประกันภัยอย่างใกล้ชิด
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ได้มีการประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าวนัดแรกเพื่อระดมความคิดเห็นในการจัดการปัญหาในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้กำหนดแนวทางการปฏิบัติ โดยเริ่มจากจัดกลุ่มการฉ้อฉลประเภทต่างๆ แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยใช้มาตรการที่แตกต่างกันดำเนินการ ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนให้ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉล เพื่อดำเนินการตามแนวทางที่คณะกรรมการฯกำหนด โดยวางแนวทางให้มีการพัฒนาเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยในการจัดการปัญหา ได้แก่ ฐานข้อมูลฉ้อฉลประกันภัย ( Insurance Fraud Database ) ส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในการตรวจจับการฉ้อฉลประกันภัย พัฒนาและปรับปรุงกติกาในเรื่องนี้ ตลอดจนเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งนอกจากจะเสนอแก้ไขกฎหมายแม่บท (กลุ่มที่ 1) แล้ว ยังมีการยกร่างประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อฉล พ.ศ….ซึ่งได้เพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อฉลเพื่อให้กระบวนการและมาตรการในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านฉ้อฉลของบริษัทประกันภัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งลดความสูญเสียจากการฉ้อฉลที่อาจกระทบกับความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัยอันถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection) โดยคณะกรรมการ คปภ. ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างประกาศแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 และขณะนี้อยู่ในระหว่างการนำไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียเพื่อนำไปปรับปรุงร่างฯให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
มาตรการที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งที่ผ่านมาการให้ความรู้มุ่งเน้นให้เกิดความเข้าใจถึงความสำคัญของประกันภัย ประเภทของผลิตภัณฑ์ประกันภัย และวิธีที่จะเอาประกันภัย แต่ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะของการฉ้อฉลฯ การป้องกัน และการรับมือ ฉะนั้นจึงจะมีการปรับปรุงแนวทางการให้ความรู้โดยจะมีการเพิ่มเติมในเรื่องนี้ และจะมีการจัดทำคู่มือประชาชน เรื่อง “รู้ทันการฉ้อฉลประกันภัย การป้องกันและการรับมือ” ในรูปแบบเอกสารและออนไลน์ โดยจะดำเนินการร่วมกันระหว่างสำนักงาน คปภ.กับสมาคมฯ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ประชาชน รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันชีวิต ประกันวินาศภัย และคนกลางประกันภัยเพิ่มเติมเรื่องการต่อต้านการฉ้อฉลประกันภัยไว้ใน Code of Conduct ของแต่ละธุรกิจด้วย
สำหรับในด้านการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัย มีความคืบหน้าการกำหนดกรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง ระยะที่ 2 (RBC 2) และมีการปรับปรุงร่างประกาศ คปภ. เรื่อง การประกันภัยต่อ เพื่อให้ครอบคลุมในส่วนของการควบคุมและติดตามความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยต่อ และให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงระหว่างการจัดทำการประกันภัยต่อกับกรอบการบริหารความเสี่ยง และการบริหารเงินกองทุน เพื่อให้การกำกับการประกันภัยต่อมีความเหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน และมีความเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (Insurance Core Principles : ICPs) และการประเมิน FSAP ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ คปภ.แล้ว ในการประชุมครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 รวมทั้งได้มีการจัดทำคู่มือ IT Audit
อีกภารกิจที่จะเป็นประเด็นเด่นของปีนี้ คือการขับเคลื่อนนวัตกรรมประกันภัย ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะดำเนินการเชิงรุกมุ่งเน้นในเรื่องของการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัย โดยนำนวัตกรรมมาต่อยอดเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมประกันภัย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเปิด Center of InsurTech, Thailand : CIT เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีในการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัย ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย กลุ่ม Start-Up และกลุ่มเทคโนโลยี ทั้งนี้การจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวถือเป็นกลไกที่สำคัญในการทำให้เกิดนวัตกรรมประกันภัยใหม่ๆ ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังเป็นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการกำกับ ตรวจสอบ คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ทันต่อเหตุการณ์ รวมถึงลดการใช้ทรัพยากรด้านบุคคลากร ด้านเงินทุน ประกอบกับยังเป็นการส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยได้นำระบบเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมประกันภัยใหม่ๆ จากกลุ่ม Start-Up มาใช้ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย การให้บริการ การสร้างช่องทางการขาย รวมถึงการพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจแบบใหม่ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. มีกำหนดเปิด Center of InsurTech, Thailand : CIT ณ อาคารสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. ภายในเดือนกรกฎาคม 2561 โดยความคืบหน้าขณะนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ CIT ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำแผนขับเคลื่อนระยะสั้น-ระยะยาว และจัดตั้งคณะทำงานย่อย เพื่อพัฒนาและนำเทคโนโลยีประกันภัยมาใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกระบวนการและช่องทางการเข้าถึงประกันภัยของประชาชนผ่านระบบเทคโนโลยีให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ซึ่งภายในเดือนกันยายน 2561 นี้ จะมีการประกวดนวัตกรรมด้านการประกันภัย โดยจะมีการมอบรางวัล และเสนอนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆด้านประกันภัยในงานสัปดาห์ประกันภัยปีนี้
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับตัวเลขธุรกิจประกันภัยไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม 2561) ธุรกิจประกันภัยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง รวมทั้งสิ้น 216,055 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในไตรมาสแรกอยู่ที่ร้อยละ 5.32 โดยแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงจากธุรกิจประกันชีวิต จำนวน 159,024 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.79 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยมีเบี้ยประกันชีวิตรับสูงสุด ได้แก่ การประกันชีวิตประเภทสามัญ จำนวน 108,947 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.68 รองลงมาเป็นประเภทกลุ่มจำนวน 11,803 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.96 ตามด้วยประเภท ยูนิตลิงค์ จำนวน 9,133 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 264.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ยังมีเบี้ยประกันภัยรับจากสัญญาเพิ่มเติมจากการประกันภัยสุขภาพ จำนวนทั้งสิ้น 19,101 ล้านบาท เติบโตในอัตราเร่งที่ ร้อยละ 11.77 สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น ขณะที่เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของธุรกิจประกันวินาศภัย จำนวน 57,031 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด ได้แก่ การประกันภัยรถ จำนวน 33,949 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.52 ซึ่งแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากการประกันภัยรถภาคบังคับ จำนวน 4,688 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.39 และจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ 29,261 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 7.04 รองลงมาคือ การประกันภัยเบ็ดเตล็ด จำนวน 19,146 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.62 ตามด้วยการประกันอัคคีภัย จำนวน 2,490 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.02 และการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง จำนวน 1,446 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.14
ทั้งนี้ จากปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การส่งออกสินค้าขยายตัวในเกณฑ์สูง การผลิตในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของการกระจายฐานรายได้ประชากร ประกอบกับสำนักงาน คปภ. มีมาตรการในการส่งเสริมการพัฒนาตลาดด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัย (Insurance Products) เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้เอาประกันภัยให้ได้รับความคุ้มครองที่ตรงกับความต้องการด้วยเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม ประชาชนสามารถเข้าถึงและเห็นคุณค่าของการทำประกันภัยที่เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับชีวิตและทรัพย์สิน จึงคาดการณ์การว่า ณ สิ้นปี 2561 เบี้ยประกันภัยรวมทั้งปีประมาณ 871,041 ล้านบาท เติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6.4-7.4 ประมาณการเบี้ยประกันชีวิต จำนวน 640,079 ล้านบาท เติบโต ร้อยละ 6.6-7.6 และประมาณการเบี้ยประกันวินาศภัย จำนวน 230,963 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 5.7-6.7 เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา : http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/88503