เลขาธิการ คปภ. เผยปมประกาศ คปภ. ยังไม่อนุญาตให้บริษัทประกันลงทุน เกี่ยวกับ Cryptocurrency แนะคลอดผลิตภัณฑ์ประกันภัยรองรับความเสี่ยงฯ

เลขาธิการ คปภ. เผยปมประกาศ คปภ. ยังไม่อนุญาตให้บริษัทประกันลงทุน เกี่ยวกับ Cryptocurrency แนะคลอดผลิตภัณฑ์ประกันภัยรองรับความเสี่ยงฯ

           ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เข้าร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง “FinTech and Cryptocurrency vs Law Enforcement” ซึ่งจัดโดยมูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เอ2 ชั้น22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอก คอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
การสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นงานสัมมนาวิชาการที่เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานอัยการสูงสุด สมาคมธนาคารไทย สมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย และผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและความเห็นเกี่ยวกับการเข้ามาของเทคโนโลยี FinTech และ Cryptocurrency ในประเทศไทย รวมถึงการแสดงจุดยืน และการกำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กล่าวเปิดการสัมมนา อีกทั้งยังมีการเสวนาภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายของภาครัฐในการกำกับดูแล FinTech” โดยมีหัวเรือใหญ่ของหน่วยงานกำกับภาคการเงินของไทยทั้ง เลขาธิการ คปภ. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการ ก.ล.ต. ให้เกียรติร่วมเสวนา
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวถึงผลกระทบจากพัฒนาการของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ของผู้บริโภค (Customer Experience) ไปอย่างสิ้นเชิงโดยก่อให้เกิดความคาดหวังใหม่ๆ และเป็นความท้าท้ายที่สำคัญของธุรกิจต่างๆในตลาดที่จะต้องสร้างความเชื่อมต่อระหว่างตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการกับพฤติกรรมหรือความต้องการของผู้บริโภค โดยสิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคต้องการได้รับจากผลิตภัณฑ์และการบริการในยุคดิจิทัลนี้ คือ ความสะดวก รวดเร็ว และไม่ยุ่งยาก ซึ่งถือเป็นการบ้านสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องตอบโจทย์ให้ได้ นอกจากนี้ หน่วยงานการกำกับดูแลธุรกิจควรกำหนดมาตรการ การกำกับดูแลให้สอดคล้องกับพัฒนาการด้านเทคโนโลยี พร้อมไปกับการใช้ประโยชน์จากการพัฒนาการของเทคโนโลยีโดยนำมาปรับใช้ในการกำกับ หรือที่เรียกว่า “RegTech” ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผู้ประกอบการในการลดต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการของหน่วยงานกำกับดูแล “SupTech”
ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลไม่สามารถไล่ตามพัฒนาการของเทคโนโลยีได้ทัน ส่งผลให้ในบางครั้งกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมถึงเทคโนโลยีนั้นๆ หรือในทางกลับกันเทคโนโลยีไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้ เนื่องจากข้อบทกฎหมายที่กำหนดห้ามไว้ จึงนำไปสู่คำถามสำคัญว่าทิศทางและพัฒนาการของกฎหมายควรจะเป็นอย่างไรเพื่อให้สามารถสอดรับและสนับสนุนพัฒนาการของเทคโนโลยี รวมถึงสามารถบังคับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ ดังนั้น แทนที่การกำกับดูแลจะเป็นในลักษณะบังคับใช้กฎหมายที่กำหนดบทบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด หน่วยงานกำกับดูแลควรกำหนดกรอบกติกาและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้กำกับดูแลให้มีลักษณะที่ยืดหยุ่น ในรูปแบบของ Soft Law ซึ่งเปิดช่องให้สามารถออกหลักเกณฑ์เพื่อขยายขอบเขตของถ้อยคำที่บัญญัติไว้ได้และ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อพัฒนาการของธุรกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ดียิ่งขึ้น
เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อไปถึงตัวอย่างการดำเนินการของสำนักงาน คปภ. ในการกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยภายใต้ยุคดิจิทัล ซึ่งมีทั้งมาตรการในเชิงสนับสนุน และเชิงป้องกันทั้งการประกาศใช้บังคับประกาศเสนอขายออนไลน์ที่เป็นกฎหมายที่วางกรอบการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทประกันภัย ตัวแทนประกันภัย นายหน้าประกันภัย และธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้การสนับสนุนการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ผ่าน Insurance Regulatory Sandbox ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัย นายหน้าประกันภัย และ ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (FinTech Firm) หรือผู้ประกอบธุรกิจที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยี (Technology Firm) สามารถเสนอโครงการเพื่อเข้าร่วมใน Regulatory Sandbox นี้ได้รวมทั้ง การจัดทำกรอบและคู่มือการตรวจสอบความเสี่ยงด้านระบบ IT (IT Audit) ให้เป็นมาตรฐาน เพื่อส่งสัญญาณให้ธุรกิจประกันภัยทราบถึงระบบการตรวจสอบขั้นต่ำที่ทุกบริษัทต้องมี การริเริ่มโครงการระบบฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย (Insurance Bureau System : IBS) การอนุมัติแบบและข้อความของกรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์ ที่จะเป็นการให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับ Computer Forensic การสูญเสียทางการเงินและรายได้ การต่อสู้คดี การกู้คืนข้อมูล และความรับผิดต่อบุคคลภายนอก โดยในปัจจุบันได้มีบริษัทประกันภัยออกขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว และคาดว่าในอนาคตจะมีจำนวนบริษัทที่ยื่นขอรับความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงการดำเนินการจัดตั้ง Center of Insurtech, Thailand (CIT) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีประกันภัย นวัตกรรมประกันภัย โดยบูรณาการในการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และกลุ่มเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีประกันภัย ตลอดจนส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีประกันภัยเพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมประกันภัย
สำหรับในเรื่องของ Cryptocurrency นั้น ภายใต้บริบทของธุรกิจประกันภัยมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวอยู่ 2 ส่วน โดยส่วนแรก เป็นการผนวกผลิตภัณฑ์ประกันภัยเข้าไปกับ Cryptocurrency ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้อยู่พอสมควร ได้มีการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่คุ้มครอง กรณีการทำธุรกรรมด้วย Bitcoin เกิดความล้มเหลว ซึ่งอาจจะเกิดจากระบบ Payment gateway หรือการทำธุรกรรมล่าช้า แต่สำหรับในประเทศไทยยังถือเป็นเรื่องใหม่ในด้านของการประกันภัย ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีบริษัทประกันภัยใดมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับ Cryptocurrency อาจเป็นเพราะว่า ที่ผ่านมายังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับสถานะที่แท้จริงของ Cryptocurrency จึงไม่สามารถพิจารณาถึงความเสี่ยงภัยในการกำหนดความคุ้มครองได้อย่างชัดเจน ส่วนต่อมาคือ การที่บริษัทประกันภัยจะไปลงทุนใน Cryptocurrency ซึ่งสำนักงาน คปภ. กำกับดูแลด้านการลงทุนของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย ภายใต้ประกาศ คปภ. ว่าด้วยเรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่น เนื่องจากการที่ธุรกิจประกันภัย เป็นธุรกิจที่บริษัทประกันภัยรับโอนความเสี่ยงภัยมาจากประชาชนและภาคธุรกิจ จึงมีความรับผิดที่ต้องชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัย ดังนั้น เมื่อบริษัทได้รับเบี้ยประกันภัยจากประชาชนมาแล้ว    จึงต้องมีการนำมาบริหารจัดการและลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เพียงพอและสอดคล้องกับภาระผูกพันที่มีอยู่ สำนักงาน คปภ. จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการลงทุนของบริษัทประกันภัย เพราะถือว่าเป็นธุรกรรมที่สําคัญต่อความมั่นคงของบริษัท ทั้งนี้ ประกาศลงทุนฉบับดังกล่าวยังไม่อนุญาตให้บริษัทนำเงินเข้าไปลงทุนเกี่ยวกับ Cryptocurrency ซึ่งสาเหตุก็จะเป็นหลักการเดียวกันกับการที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ประกันภัย Cryptocurrency ประกอบกับมูลค่าของ Cryptocurrency ในช่วงที่ผ่านมา ค่อนข้างมีความผันผวน จึงทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการลงทุน ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปยังผู้เอาประกันภัยในที่สุด จึงต้องมีการศึกษารูปแบบและผลกระทบให้รอบด้านก่อน แต่แน่นอนว่า เมื่อกฎระเบียบที่ออกมามีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการที่ภาครัฐเข้ามากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ คาดว่าอีกไม่นานนี้ เราก็จะได้เห็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นกับ Cryptocurrency มากขึ้น ซึ่งสำนักงาน คปภ.ได้มีการหารือ พูดคุยกับภาคธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เป็นระยะๆ
“FinTech และ InsurTech แม้จะนำมาซึ่งโอกาสในการประกอบธุรกิจ และการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค แต่เมื่อมีการใช้บริการและมีการเติบโตของธุรกรรมที่มากขึ้น ก็ย่อมที่จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายหรือการละเมิดต่อผู้บริโภคตามมา ซึ่งสิ่งสำคัญที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องคำนึงถึงในการกำกับดูแลพัฒนาการของเทคโนโลยี คือ การสร้างกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคที่จะมารองรับกรณีที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีต่างๆ และในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงการสร้างความสมดุลระหว่างการส่งเสริมพัฒนาการเทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ ดังนั้น การสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจว่าจะได้รับความคุ้มครองจากการใช้เทคโนโลยีนั้นๆ จะส่งผลต่อเนื่องให้กับพัฒนาการของธุรกิจที่จะสามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง และสุดท้ายผลประโยชน์ก็จะตกแก่ทั้งภาคธุรกิจและประชาชน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา : http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/88493

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *