ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพแวดล้อมของธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิทัล มีความละเอียดและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมประกันภัยที่ต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถก้าวทันนวัตกรรมใหม่ จึงต้องมีการเฝ้าระวัง รวมถึงวางมาตรการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้านการประกันภัย (Preemptive Measure) ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยง ตลอดจนการกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในอนาคตปริมาณข้อมูลด้านการประกันภัยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการข้อมูลที่ดีและเป็นระบบ อีกทั้งยังต้องมีการเตรียมความพร้อมให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีประกันภัยในอนาคต ทั้งนี้ นอกจากเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยภาคธุรกิจแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลเองก็สามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้บริโภคได้ด้วยเช่นกัน
สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเร่งปรับตัวและพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงจัดงานสัมมนา InsurTech Roundtable : “สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยในยุคดิจิทัล” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเป็นเวทีระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีประกันภัยระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย กลุ่มธุรกิจประกันภัย กลุ่มเทคโนโลยีประกันภัยและกลุ่มผู้บริหารธุรกิจด้านต่างๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัย และนำนวัตกรรมมาต่อยอดสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีประกันภัยในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ตลอดจนช่วยคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคด้านการประกันภัย รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวคิด ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องบอลรูม ซี โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูง จากสำนักงาน คปภ. ผู้บริหารระดับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับงานเทคโนโลยีสารสนเทศของบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย ผู้บริหารบริษัท Start-Up ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงผู้แทนจากสถาบัน สมาคม หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของอุตสาหกรรมประกันภัย รวมจำนวนกว่า 150 ท่าน
สาระสำคัญของการสัมมนาในครั้งนี้ ประกอบด้วยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ อย่าง Blockchain, Big Data รวมถึงการนำเอานวัตกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ โดยแบ่งเป็น 4 Module ประกอบด้วย Module 1 ภายใต้หัวข้อ “Cultivating Benefits from Innovation” ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพรวมของการปรับตัวของอุตสาหกรรมโดยการใช้นวัตกรรม Module 2 ภายใต้หัวข้อ “Future of Coverage Providers” ซึ่งจะมีการแบ่งปันประสบการณ์จากผู้ใช้งานจริงจาก 4 บริษัท ทั้งจาก Allianz Ayudhya, Tokiomarine, AXA และเมืองไทยประกันชีวิต Module 3 ภายใต้หัวข้อ “Compact Insurance Disruptors” จากบริษัท Start up ที่ประสบความสำเร็จในเมืองไทยอีกจำนวน 4 บริษัท และ Module 4 ภายใต้หัวข้อ “Mega – Trend in Digital Age” ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้รับเกียรติจาก พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงาน กสทช. มาฉายภาพให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ใน Digital Age รวมถึงชี้แนะแนวทางการเตรียมพร้อมปรับเปลี่ยนอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ
“การสัมมนา InsurTech Roundtable :“สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยในยุคดิจิทัล” ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงพลังความสามัคคี รวมถึงความตื่นตัวที่ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยมีต่อการเปลี่ยนทางเทคโนโลยี นับเป็นโอกาสอันที่ที่ทุกท่านที่เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้จะได้รับประโยชน์และนำข้อมูลและความรู้ที่ได้รับจากวันนี้ไปผสมผสานในการพัฒนาตนเอง และองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริการผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้อย่างทั่วถึง และใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนสร้างการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยในยุคดิจิทัล แต่สิ่งที่ยากคือการนำความรู้ทางเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งมาจากแต่ละสาขา แต่ละบริษัทมาบูรณาการหลอมรวมกันอย่างไร ที่จะทำให้เป้าหมายการพัฒนา InsurTech ของประเทศไทย สามารถเดินหน้าไปได้ ซึ่งตรงนี้จะเป็นบทบาทที่สำคัญของ Centre of InsurTech, Thailand หรือ CIT ที่เป็นเวทีที่เป็นกลางช่วยบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆที่ได้รับ เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมและการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีประกันภัย โดยความคืบหน้าการจัดตั้ง CIT คือ ได้มีการประชุมร่วมกับผู้แทนภาคธุรกิจประกันภัยกลุ่ม StartUp และกลุ่มเทคโนโลยี ทำให้ได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และจะได้จัดทำแผนการขับเคลื่อนในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมจัดตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละส่วน ขณะเดียวกัน จะได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและ Application เพื่อเชื่อมโยงกับ Insurance Bureau System และ Insurance Regulatory Sandbox เพื่อขับเคลื่อนระบบ InsurTech ให้เป็นรูปธรรมต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา : http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/88492