สำนักงาน คปภ. เดินหน้าขับเคลื่อนกลไกการประกันภัยพืชผล สร้างเครือข่ายกระจายความรู้ ด้านการประกันภัย เพื่อผลักดันให้เกษตรกรไทยบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยการประกันภัยข้าวนาปี ผ่านโครงการอบรมความรู้ประกันภัย “Training for the Trainers” ปี 2561 ยกพลลงพื้นที่แห่งแรกจังหวัดเชียงใหม่ก่อนกระจายตัวลงพื้นที่อีก 9 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรไทยในประเทศ ต่อยอดความสำเร็จเมื่อปีที่แล้ว
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนประชาชนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรถึงร้อยละ 30 ของจำนวน ผู้ประกอบอาชีพทั้งหมด ในขณะเดียวกันอาชีพทำนามีความเสี่ยงสูงจากภัยทางธรรมชาติอย่างมาก เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ แมลงศัตรูพืช ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้ค่อนข้างต่ำ ดังนั้น “การประกันภัยข้าวนาปี” จึงเป็นหนึ่งในมาตรการที่มีความสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อคุ้มครองต้นทุนการผลิตเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพทางรายได้และความมั่นคงในอาชีพของเกษตรกร โดยภายหลังจากที่ ครม. มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 สำนักงาน คปภ. ได้เร่งขับเคลื่อนโครงการ “อบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers)” ประจำปี 2561 ในทันที โดยกำหนดพื้นที่กลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทั่วประเทศ และเพิ่มเติมจากปี 2560 เป็น 10 จังหวัดในทุกภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัยให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกร
ปี 2560 ที่ผ่านมาถือได้ว่าสำนักงาน คปภ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผลประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ส่งผลให้มีพื้นที่เอาประกันภัย จำนวนถึง 26.12 ล้านไร่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนเกษตรกรทำประกันภัยถึง 1.76 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึงร้อยละ 16.56 สำหรับในปี 2561 นี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีแผนขับเคลื่อนการประกันภัยข้าวนาปีที่พิเศษกว่าปีที่ผ่านมา โดยจะมีการลงพื้นที่ไปยังศูนย์การเรียนรู้ หรือศูนย์วิจัยเกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าวในจังหวัด และพบปะกับชุมชนในพื้นที่เพื่อให้ได้รับทราบสภาพปัญหาและวิธีการที่เกษตรกรใช้ในการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ การจัดโครงการอบรมความรู้ประกันภัยในปีนี้ได้ประเดิมการลงพื้นที่ครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 29 – 30 เมษายน 2561 โดยได้เลือกจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นจังหวัดเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศ มีพื้นที่ปลูกข้าวถึง 405,986 ไร่ ทั้งยังมีศูนย์เรียนรู้โดยเกษตรต้นแบบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้าวโดยตรง และครบวงจรตั้งแต่การผลิตจนถึงการจำหน่าย โดยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย บริษัทรับประกันภัยต่อ (Reinsurers) ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอหางดง และได้ลงพื้นที่พบปะกับเกษตรกรและผู้นำชุมชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วม จากอำเภอสันป่าตอง และอำเภอแม่วาง กว่า 300 ราย รวมทั้งได้รับการรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าจังหวัดเชียงใหม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์พายุฤดูร้อน เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา (15 – 17 เมษายน 2561) มี 3 อำเภอที่ได้รับความเสียหาย คือ อำเภอแม่แตง อำเภอฝาง และอำเภอหางดง กว่า 500 ไร่ นอกจากนี้ยังพบว่าจังหวัดเชียงใหม่ต้องประสบกับภัยธรรมชาติทั้งศัตรูพืช และภัยแล้งอยู่เป็นประจำ ทั้งยังต้องประสบกับลมพายุ ลูกเห็บ และน้ำท่วม บ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับจากการลงพื้นที่ครั้งนี้มาปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้การประกันภัยมีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรไทยต่อไป
ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรมีความเข้าใจและเห็นถึงความจำเป็นในการที่จะนำระบบประกันภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง จึงได้อบรมความรู้การประกันภัยข้าวนาปี “Training for the Trainers” ประจำปี 2561 ขึ้นโดย นายปวิณ ชำนิศาสตร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้การต้อนรับ กล่าวชื่นชมและขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดเชียงใหม่เป็นสถานที่จัดการอบรมเป็นจังหวัดแรกและเปิดตัวโครงการในปีนี้ สำหรับทิศทางการพัฒนาของจังหวัดคือ การเป็นเมืองเกษตรปลอดภัยและมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมูลค่าสูงสามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลก ซึ่งการลงพื้นที่และการอบรมความรู้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรชาวนาในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับเกษตรกรในจังหวัด อันจะช่วยนำพาอุตสาหกรรมอาหารของจังหวัดเชียงใหม่ไปสู่การเป็นครัวโลกได้อย่างยั่งยืนต่อไป
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 สำนักงาน คปภ. โดยนายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบแบบและข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัย ของกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 แล้วตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2561 ซึ่งมีบริษัทประกันภัยเข้าร่วมโครงการจำนวน 22 บริษัท และสามารถรับประกันภัยได้แล้ว ทั้งนี้ รูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายการรับประกันภัยสูงสุดไว้ไม่เกิน 30 ล้านไร่ มีเงื่อนไขการรับประกันภัยคือ เกษตรกร ผู้เพาะปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียน (ทบก.) กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในปีการผลิต 2561/62 โดยแบ่งกลุ่มผู้เอาประกันภัยเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรก คือกลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ของ ธ.ก.ส. ทุกราย มีพื้นที่เป้าหมาย จำนวนไม่เกิน 29 ล้านไร่ กลุ่มที่สอง คือกลุ่มเกษตรกรทั่วไปที่เพาะปลูกข้าวนาปี ที่ไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. มีพื้นที่เป้าหมาย จำนวนไม่เกิน 1 ล้านไร่สำหรับอัตราเบี้ยประกันภัยยังคงเดิม คือ 90 บาทต่อไร่ ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะได้รับวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 1,260 บาทต่อไร่ สำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 6 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บและไฟไหม้ และวงเงินคุ้มครองสูงสุด 630 บาทต่อไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด ทั้งนี้ในส่วนค่าเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่นั้น รัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรผู้ทำประกันภัย 54 บาทต่อไร่ และธ.ก.ส.อุดหนุนส่วนที่เหลือ 36 บาทต่อไร่ โดยภาครัฐยังอุดหนุนค่าอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย ดังนั้น เกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของธ.ก.ส.จะไม่เสียค่าเบี้ยประกันภัยเลย แต่ถ้าไม่ได้เป็นลูกค้าธ.ก.ส.จะจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเองเพียง 36 บาทต่อไร่ โดยมีระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่ฤดูกาลเพาะปลูก ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ยกเว้นภาคใต้ไม่เกินวันที่ 15 ธันวาคม 2561
“สำนักงาน คปภ. มุ่งมั่นการทำงานทั้งในเชิงบูรณาการทำงานเชิงรุกกับหน่วยงานเครือข่าย โดยเปิดตัวโครงการฯ ได้เร็วกว่าในปีที่แล้ว ก่อนเข้าหน้าฝนซึ่งมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะเกิดภัยธรรมชาติขึ้น และสำนักงาน คปภ. คาดหวังว่าผู้เข้าอบรมจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน และขยายผลไปถึงเกษตรกรชาวนาไทย ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในการปฏิรูปประกันภัยพืชผล รวมถึงสร้างความมั่นคงในชีวิต และยกระดับรายได้ของเกษตรกรในประเทศต่อไป ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวยังมีการขับเคลื่อนต่อเนื่องอีก 9 ครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดพะเยา จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดพัทลุง ตามลำดับ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา : http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/88425