คปภ. เพื่อชุมชนปี 4 โดยสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยได้เดินเคาะประตูบ้านพูดคุยกับชาวชุมชน

คปภ. เพื่อชุมชนปี 4 โดยสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยได้เดินเคาะประตูบ้านพูดคุยกับชาวชุมชน

เลขาธิการ คปภ. นำทัพ Insurance Mobile Unit แบบครบวงจรลงพื้นที่เคาะประตูชาวชุมชนบ้านวังกะ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี • แนะชาวชุมชนเพิ่มภูมิคุ้มภัยจากโรคไข้เลือดออก-ภัยธรรมชาติ-โรคโควิด-19 ด้วยระบบประกันภัย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14-15 กันยายน 2563 ได้นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัยของสำนักงาน คปภ. ผู้บริหารกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ผู้แทนกองทุนประกันชีวิต ผู้แทนกองทุนประกันวินาศภัย ผู้บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัทประกันภัยหลายบริษัท ลงพื้นที่ชุมชนบ้านวังกะ ณ ศาลาประชาคม วัดวังก์วิเวการาม ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ในรูปแบบ Mobile Insurance Unit ในโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 4 โดยสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยได้เดินเคาะประตูบ้านพูดคุยกับชาวชุมชน เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัย คุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย และรับฟังสภาพปัญหา ความต้องการของประชาชนในชุมชน เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งมีการถอดบทเรียนจากประสบการณ์จริงของชาวชุมชน กรณีเกิดอุบัติเหตุจากรถและได้รับประโยชน์จากการทำประกันภัยด้วย

 

จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้พบว่า ชาวชุมชนบ้านวังกะ ยังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำประกันภัยประเภทต่าง ๆ ประกอบกับชุมชนบ้านวังกะ ตั้งอยู่บริเวณทางลาดชันในหุบเขา มีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น ประชาชนส่วนใหญ่ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเดินทาง และที่สำคัญชาวชุมชนบ้านวังกะ อยู่ใกล้ชายแดนของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งขณะนี้สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมากำลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสอง ดังนั้นสำนักงาน คปภ. จึงให้ความรู้ด้านประกันภัย เพื่อให้เหมาะสมกับชาวชุมชนบ้านวังกะ เช่น การประกันภัยรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ประกันภัย พ.ร.บ.) การประกันภัยไข้เลือดออก การประกันภัยไข้หวัดใหญ่ การประกันภัยจากภัยธรรมชาติ การประกันภัยอัคคีภัย การประกันภัยโควิด-19 เพื่อนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในการดำรงชีวิต และประกอบอาชีพ โดยนำระบบประกันภัยเข้าไปช่วยเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนยามเมื่อเกิดภัยได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ ได้มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังสภาพปัญหาด้านประกันภัยระหว่างสำนักงาน คปภ. กับชาวชุมชนบ้านวังกะ ในรูปแบบจับเข่าคุยกัน “ประกันภัยเป็นเรื่องใกล้ตัว” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงาน คปภ. เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับไปพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยให้มีความเหมาะสมและตรงกับความต้องการของชุมชนยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการนำระบบประกันภัยเข้าไปส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งและสามารถบริหารความเสี่ยงได้ด้วยตนเอง

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ครั้งแรกของโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 4 ภายใต้แนวคิด “เหนือสุดใต้ ตะวันออกสุดตะวันตก” ซึ่งเป็นชุมชนบ้านมอญที่มีอัตลักษณ์ มีวัฒนธรรมของตนเอง มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น เป็นชุมชนที่เข้มแข็งมีแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจ อาทิ การเย็บผ้าวิถีชาวมอญ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีภูมิประเทศติดชายแดนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ติดริมแม่น้ำซองกาเลีย โดยใช้เรือและแพในการประกอบอาชีพประมง และเพื่อการท่องเที่ยวชมเมืองบาดาล โดยสำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย นำระบบประกันภัยส่งถึงประตูบ้านชาวชุมชนในรูปแบบ Insurance Mobile Unit หรือศูนย์บริการประชาชนด้านการประกันภัยเคลื่อนที่แบบครบวงจร ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่มีต่ออุตสาหกรรมประกันภัยอย่างยั่งยืน โดยมีการถ่ายทำเป็นรายการซีรีย์ “คปภ. เพื่อชุมชน” เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวชุมชนควบคู่ไปกับองค์ความรู้
ด้านประกันภัย และนำไปเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์และสื่อออนไลน์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้านประกันภัยในวงกว้าง

“โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ปี 4 เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ของประเทศ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและคุณประโยชน์ของการประกันภัย สามารถใช้ประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินให้กับตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของชุมชนมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันการลงพื้นที่ชุมชนของสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ทำให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนทราบความต้องการเรื่องผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จำเป็นสำหรับชุมชน ซึ่งจะได้นำข้อแนะนำของชาวชุมชนบ้านวังกะไปศึกษาความเป็นไปได้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของชาวชุมชนต่อไป” เลขาธิการ คปภ.
กล่าวในตอนท้าย

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ โดย PR OIC

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *