เลขาธิการ คปภ. เปิดมิติใหม่อุตสาหกรรมประกันภัยไทย “บริหารความเสี่ยงภัยให้ประมงพื้นบ้าน” คลอดแล้ว…! แบบกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อกลุ่มชาวประมงเรือพื้นบ้าน ฉบับแรกของประเทศไทย

เลขาธิการ คปภ. เปิดมิติใหม่อุตสาหกรรมประกันภัยไทย “บริหารความเสี่ยงภัยให้ประมงพื้นบ้าน” คลอดแล้ว…! แบบกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อกลุ่มชาวประมงเรือพื้นบ้าน ฉบับแรกของประเทศไทย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากพายุโซร้อนและได้สร้างความเสียหายให้กับประชาชนผู้ประกอบอาชีพประมงเรือพื้นบ้านอยู่เนื่องๆ ดังนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีดำริให้ สำนักงาน คปภ. จัดทำรูปแบบการประกันภัยเพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายจากภัยธรรมชาติให้กับชาวประมงทั้งความเสียหายต่อตัวเรือประมงและการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของชาวประมงและลูกเรือประมง ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีการดำเนินการหารือ และบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมประมง กรมเจ้าท่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมประมงแห่งประเทศไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย บริษัทประกันภัย และบริษัทรับประกันภัยต่อในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยสำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการข้อมูล ตลอดจนความคิดเห็นของทุกภาคส่วนจนตกผลึกเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาวประมงไทยอย่างมีประสิทธิภาพและสมบูรณ์แบบที่สุด โดยได้ผ่านการพิจารณาและได้รับข้อแนะนำจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดในเรื่องนี้ โดยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ตนในฐานะนายทะเบียนได้ลงนามในคำสั่งนายทะเบียนที่ 32/2562 เรื่อง ให้ใช้แบบ ข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อกลุ่มชาวประมงเรือพื้นบ้าน และกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อชาวประมง ภาคสมัครใจ (ไมโครอินชัวรันส์) โดยแยกกรมธรรม์ประกันภัยออกเป็น 2 แบบคือ กรมธรรม์ประกันภัยเพื่อกลุ่มชาวประมงเรือพื้นบ้าน ซึ่งถือเป็นแบบกรมธรรม์ประกันภัย ฉบับแรกของประเทศไทย ที่มีการนำระบบประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยงภัยให้กับ “เรือประมงพื้นบ้าน” โดยแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัย มีสาระสำคัญ ดังนี้ กรมธรรม์ประกันภัยเพื่อกลุ่มชาวประมงเรือพื้นบ้าน มีลักษณะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่มีการสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยจากรัฐบาล โดยจะต้องเป็นเรือที่ทำการประมงเรือพื้นบ้าน ขนาดของเรือไม่ถึง 10 ตันกลอส และได้มีการจดทะเบียนเรือ (ประเภทเรือประมง) กับกรมเจ้าท่า ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองสำหรับความสูญเสียหรือเสียหายทั้งในขณะออกเรือและจอดฝั่ง อันเนื่องจาก อุทกภัย วาตภัย พายุ คลื่นลมแรง คลื่นซัดชายฝั่ง แผ่นดินไหว และสึนามิ ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือทายาทโดยธรรมของผู้เอาประกันภัยและ/หรือลูกเรือประมง แล้วแต่กรณี ซึ่งได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบกรมประมงว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือชาวประมงที่ประสบภัยธรรมชาติ หรือตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
ในส่วนของการจ่ายค่าชดเชยสำหรับความสูญเสียหรือเสียหายของเรือประมง มีดังนี้ กรณีมีการกู้เรือ จำนวนเงินเอาประกันภัย 10,000 บาทต่อลำ กรณีมีการซ่อมแซมเรือและอุปกรณ์ จำนวนเงินเอาประกันภัย 10,000 บาทต่อลำ กรณีเรือประมงสูญหายหรือเสียหาย จนไม่สามารถซ่อมแซมได้ จำนวนเงินเอาประกันภัย 20,000 บาทต่อลำ กรณีค่าชดเชยการจัดการศพผู้เอาประกันภัยและ/หรือลูกเรือประมงของผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตหรือสูญหาย จำนวนเงินเอาประกันภัย 10,000 บาทต่อลำ สำหรับเบี้ยประกันภัย 450 บาทต่อลำ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณจากรัฐบาลประมาณ 11 ล้านบาท ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะประสานงานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณางบประมาณสนับสนุนค่าเบี้ยประกันดังกล่าวเพื่อเป็นการรองรับนโยบายรัฐบาล ต่อไป
สำหรับ กรมธรรม์ประกันภัยเพื่อชาวประมง ภาคสมัครใจ (ไมโครอินชัวรันส์) ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ชาวประมงสามารถ เลือกซื้อได้เอง โดยที่รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย โดยให้ความคุ้มครองเรือ 2 ขนาด คือ ขนาดของเรือไม่ถึง 10 ตันกลอส และขนาดของเรือ 10 ตันกลอสขึ้นไป ซึ่งเป็นเรือที่ใช้สำหรับทำการประมงในทะเลและได้มีการจดทะเบียนเรือ (ประเภทเรือประมง) กับกรมเจ้าท่าและสำหรับเรือประมงที่มีขนาดของเรือ 10 ตันกลอสขึ้นไป จะต้องมีอาชญาบัตรจากกรมประมง โดยจะได้รับความคุ้มครองสำหรับความสูญเสียหรือเสียหายทั้งในขณะออกเรือและจอดฝั่ง อันเนื่องจาก อุทกภัย วาตภัย พายุ คลื่นลมแรง คลื่นซัดชายฝั่ง แผ่นดินไหว และสึนามิ ให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้ได้รับความคุ้มครอง หรือทายาทโดยธรรมของบุคคลดังกล่าว แล้วแต่กรณี ซึ่งได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบ กรมประมง ว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร  ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือชาวประมงที่ประสบภัยธรรมชาติ หรือตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
โดยคุ้มครองความสูญเสียหรือเสียหาย ดังนี้ กรณีเรือประมงสูญหายหรือเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ จำนวนเงินเอาประกันภัย 10,000 บาทต่อลำ กรณีการเสียชีวิต การสูญเสียมือ เท้า การสูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง (อ.บ.1) เนื่องจากอุบัติเหตุของผู้เอาประกันภัยและ/หรือผู้ได้รับความคุ้มครอง 1 ราย จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาทต่อลำ สำหรับเบี้ยประกันภัย ขนาดของเรือไม่ถึง 10 ตันกลอส จ่ายเบี้ยประกันภัย 300 บาทต่อลำ และขนาดของเรือ 10 ตันกลอสขึ้นไป จ่ายเบี้ยประกันภัย 400 บาทต่อลำ (โดยยังไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยบริษัทประกันภัยสามารถยื่นขอรับความเห็นชอบพร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมการขออนุญาตก่อนจึงจะนำไปเสนอขายให้กับประชาชนได้
“สำนักงาน คปภ. มีความภาคภูมิใจที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนนำระบบประกันภัยเข้าไปช่วยบริหารความเสี่ยงภัยให้กับเรือประมงพื้นบ้าน ได้มีเครื่องมือบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างเป็นระบบและ มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดมิติใหม่ของอุตสาหกรรมประกันภัยไทยในการนำระบบประกันภัยเข้าไปสู่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านให้ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัยอีกด้วย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา : https://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/89711

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *