เลขาธิการ คปภ. ปลุกพลังชาว คปภ. ชูธงปีหมูสู่ SMART OIC ผ่านเวทีสัมมนาใหญ่ประจำปี ภายใต้แนวคิด “มุ่งมั่น รวมพลัง ก้าวไกล สู่มิติใหม่ คปภ.”

เลขาธิการ คปภ. ปลุกพลังชาว คปภ. ชูธงปีหมูสู่ SMART OIC ผ่านเวทีสัมมนาใหญ่ประจำปี ภายใต้แนวคิด “มุ่งมั่น รวมพลัง ก้าวไกล สู่มิติใหม่ คปภ.”

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาพนักงาน คปภ. ประจำปี 2561 มอบนโยบาย แนวทางการดำเนินงานในปี 2562 ของสำนักงาน คปภ. ภายใต้แนวคิด “มุ่งมั่น รวมพลัง ก้าวไกล สู่มิติใหม่ คปภ.” เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรม แอมบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี โดยได้ประกาศต่อทุกคนอย่างเป็นทางการว่า “บุคลากรทั้ง 781 คน ได้เข้าสู่โครงสร้างองค์กรและโครงสร้างตำแหน่งใหม่แล้วอย่างสมบูรณ์” และขอให้ทุกคนพร้อมที่จะก้าวเดิน และขับเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมกันอย่างมุ่งมั่น สามัคคี และเสียสละเพื่อ สำนักงาน คปภ. พร้อมกล่าวด้วยว่า ในปี พ.ศ. 2561 ที่กำลังจะผ่านไป และก้าวสู่ปีที่ 12 ของ สำนักงาน คปภ. ถือเป็นปีที่ สำนักงาน คปภ. ขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว โดยเป็นผลจากการสร้างสรรค์และต่อยอดการทำงานของบุคลากรทุกคน ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเทอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความคาดหวังของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่งจะเห็นว่าผลสำเร็จขององค์กร ส่วนสำคัญมาจาก “บุคลากร” ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กร และในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวแสดงความยินดีและต้อนรับพนักงานใหม่ทุกคนที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ สำนักงาน คปภ. อย่างเป็นทางการ
เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อไปว่า ทิศทางและนโยบายสำหรับปี 2562 ยังคงเป็นปีที่บุคลากรทุกคนต้อง “รวมพลังกันอย่างเต็มกำลัง และก้าวสู่มิติใหม่ที่มีทั้งโอกาสและความท้าทาย” และจะขับเคลื่อนในเรื่อง regulatory reform อย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังต้องสานต่อและต่อยอดการทำงานในปี 2561 และการทำงานที่ต้องเผชิญกับความคาดหวังของผู้เกี่ยวข้องที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ คปภ. ธุรกิจประกันภัย หน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ รวมไปถึงรัฐบาล และที่สำคัญคือ “ประชาชน” ในการมุ่งหวังให้ สำนักงาน คปภ. สามารถส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้เพิ่มบทบาทสำคัญในการเป็นกลไกบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน ผู้ประกอบการ รวมถึงรัฐบาล เพื่อความมั่งคั่ง ยั่งยืนของเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศต่อไป
ทั้งนี้ เลขาธิการ คปภ. และผู้บริหาร ยังคงตระหนักถึงความสำคัญในการหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับบุคลากรทุกคน โดยได้ร่วมกันกำหนดนโยบายการบริหารงานบุคคลสำหรับปี 2562 ในการประชุมคณะกรรมการบริหารงานบุคคลสัญจร เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยมีนโยบายสำคัญดังนี้
1. ให้เพิ่มทักษะที่สำคัญของพนักงาน คปภ. ในระยะต่อไป เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของสำนักงาน คปภ. ให้พร้อมสู่การเป็น “Digital Insurance Regulator” ประกอบด้วย 5 ด้านสำคัญ ได้แก่
    1.1 ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งสำคัญมากในโลกปัจจุบันนี้ ที่จะต้องเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของคนทำงานโดยบุคลากรของ คปภ. จะต้องเรียนรู้ และพัฒนาตนเองในการใช้งานไม่เพียงแค่การใช้งานเบื้องต้น แต่ต้องสามารถนำเทคนิคมาประยุกต์ใช้ในงาน และใช้ประโยชน์ในการค้นหาข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว
    1.2 ทักษะด้านภาษา เนื่องจากภารกิจของ สำนักงาน คปภ. ในอนาคตจะต้องเข้าสู่มาตรฐานสากล และมีความจำเป็นยิ่งที่พนักงานจะต้องมีทักษะด้านภาษา อย่างน้อยภาษาอังกฤษที่สามารถสื่อสารและใช้ในการปฏิบัติงานได้ดังนั้น ในปี 2562 จะได้มีการส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษด้วยตนเอง และมีการเทียบเคียงการประเมินกับมาตรฐานสากล
    1.3 ทักษะความสามารถหลากหลาย หรือ Multi-Function แม้ว่าความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้บุคลากรของ คปภ. รู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งในเชิงลึก แต่สำหรับโลกการทำงานยุคใหม่นั้นต้องการคนที่ทำงานหลากหลายได้ ไม่ได้มีข้อจำกัดในการทำงานแค่เพียงอย่างเดียว
    1.4 ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำงานเป็นทีม เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนภารกิจขององค์กร เนื่องจากการทำงานเกือบทุกอย่างต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย ดังนั้น ทุกคนต้องสามารถทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน ที่จะมีความแตกต่างหลากหลายมากยิ่งขึ้นได้ การทำงานจึงจะมีประสิทธิภาพ
    1.5 ทักษะในการคิดอะไรใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องสำคัญของการทำงานในอนาคต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม และโดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ จะทำให้ความคิดแบบเดิมๆไม่สามารถสร้างความสำเร็จ หรือขับเคลื่อนองค์กรได้ และจะต้องมีความคิดที่จะค้นคว้าหาข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำงานอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการเสนอแนวทาง วิธีการใหม่ๆในการทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งหรือหน้าที่ใด เพื่อต่อยอดให้กับงานที่เราทำอยู่ให้ดีขึ้นได้
2. การยกระดับมาตรฐานการทำงานของส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้มีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกัน
3. การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานมากขึ้น
4. การปรับปรุงสวัสดิการต่างๆ ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เช่น การทบทวนโครงสร้างเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เป็นต้น
5. การพัฒนาทักษะของพนักงาน และลูกจ้างให้มีองค์ความรู้ที่เหมาะสม และ สำนักงาน คปภ. พยายามเปิดโอกาสในการเติบโตและพัฒนา รวมถึงจะหาแนวทางในการยกระดับคุณภาพการทำงานและการดำเนินชีวิตของทุกคน  จึงขอให้ทุกคนเตรียมความพร้อมของตนเองอยู่ตลอดเวลา และมุ่งมั่น ตั้งใจในการทำงานเพราะ “ทุกคนคือส่วนหนึ่งที่สำคัญของสำนักงาน คปภ.”
นอกจากนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้คาดหวังและอยากฝากให้ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง คปภ. ทุกคน เตรียมพร้อมและนำมาปรับใช้กับการทำงานร่วมกัน 6 ประการ ประกอบด้วย
ประการแรก คือ นโยบายของ CEO ถือเป็นทิศทางและแนวทางการปฏิบัติงานขององค์กรที่ผู้บริหารและพนักงานต้องร่วมกันคิด วิเคราะห์ กำหนดกลยุทธ์ และแผนการดำเนินงานที่เป็นไปได้ ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย มิใช่มองว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หรือปฏิเสธนโยบายนั้นตั้งแต่ต้น
ประการที่สอง คือ ความยั่งยืนขององค์กร ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ ความเสถียรด้านระบบ “การบริหารจัดการที่ดี” และการคงไว้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรม การมุ่งเน้นการจัดการ “ด้านทรัพยากรบุคคล” ไม่ว่าจะเป็นการเลือกคนที่เหมาะสม ร่วมกับการสื่อสารและบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ  และผลลัพธ์ด้าน “นวัตกรรม” ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เกี่ยวข้องได้
ประการที่สาม คือ ปรับบทบาทของสำนักงาน คปภ. ในฐานะ regulator นอกเหนือจากการกำกับ ตรวจสอบอย่างเข้มข้นเช่นที่ผ่านมาแล้ว มาเป็น Facilitator ให้มากขึ้น และเร่งดำเนินการในการเป็นแกนกลางสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นต่อทุกมิติในการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจของประชาชน ผู้ประกอบการ และเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่สำคัญของรัฐบาลในการสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคง ยั่งยืนของประเทศ
ประการที่สี่ คือ การสร้างความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่อพนักงานและความสามารถในการบริหารการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยผู้บริหารต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สามารถบริหารคนให้ได้ใจและได้งาน “สอนให้ทำ ทำให้ดู ให้ลองทำดู” ส่วนพนักงานต้องพร้อมพัฒนาศักยภาพของตนเองในทุกขณะ (Learning in Real-time) และองค์กรต้องสร้างระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
ประการที่ห้า คือ การคิดนวัตกรรมในการทำงานต้องเกิดจากความต้องการในการที่จะพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการเสนอเป็นแผนงานโครงการที่ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด มีกระบวนการน้อยที่สุด แต่ให้ผลลัพธ์มากที่สุด ซึ่งงานโครงการไม่ใช่การนำงานประจำมาทำเป็นโครงการ แต่ต้องเกิดจากความต้องการในการพัฒนางานที่รับผิดชอบให้มีประสิทธิภาพ ได้ผลลัพธ์สูงสุดในเวลาอันรวดเร็ว
ประการที่หก คือ การปรับเปลี่ยนองค์กรให้มีความคล่องตัว (Agile Organization) เป็นความท้าทายของทุกองค์กร ซึ่งต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยน Mindset ของคนในองค์กร และความร่วมมือ ร่วมใจของผู้บริหารและพนักงานทุกคน โดยมองภาพรวมและเป้าหมายขององค์กรเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้ยึดหลัก 3+1 สำหรับการปรับเปลี่ยนองค์กร คือ (1) Rethink (2) Reskill (3) Restyle และ “Restart not Rerun”
“ขอให้บุคลากรของสำนักงาน คปภ.ทุกคนพร้อมที่จะก้าวเดิน และขับเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมกันอย่าง“มุ่งมั่น รวมพลัง ก้าวไกล สู่มิติใหม่ คปภ.” ให้สำนักงาน คปภ. ก้าวไปสู่การเป็นองค์กรศักยภาพสูง (SMART OIC) ที่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ขอให้ทุกคนมีกำลังใจ และทำงานอย่างฮึกเหิม เพื่อให้ได้ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบประกันภัยไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน และสร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชนต่อไป”เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *