เลขาธิการ คปภ. กล่าวเปิดงาน CLMVT Professional Development in Non-life Insurance พร้อมย้ำนโยบายบูรณาการเชื่อมอาเซียนเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยในภูมิภาค
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวเปิดหลักสูตร CLMVT Professional Development in Non-life Insurance ในวันที่ 4 มีนาคม 2562 ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบัน Asian Institute of Technology ร่วมกับบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ เป็นครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ หลักการพื้นฐานของประกันภัย เทคนิค และตลาดธุรกิจประกันภัยของกลุ่มประเทศ CLMVT โดยผู้เข้ารับการอบรมประกอบไปด้วย ผู้แทนจากบริษัทประกันภัยใน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และไทย รวมทั้งสิ้น 16 ท่าน เข้าร่วมเรียนรู้และพัฒนาความสามารถ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการทำงานให้ประสบความสำเร็จ และมีความเป็นเลิศในตลาดประกันภัยของประเทศ CLMVT
โดย เลขาธิการ คปภ. ได้บรรยายให้ความรู้ผู้เข้าร่วมหลักสูตรในเรื่องอำนาจหน้าที่ แนวทาง และนโยบายการกำกับธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย โดยสำนักงาน คปภ. มีแผนยุทธ์ศาสตร์ E.F.FE.C.T. ที่กำหนดไว้เพื่อให้การกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยเป็นไปได้อย่างครบถ้วน มีประสิทธิภาพ และยุติธรรมแก่ทุกภาคส่วน กล่าวคือ
E: Proactively educating the public and product developing คือ การให้ความรู้เชิงรุกต่อสาธารณชน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของตลาดและเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและเสถียรภาพให้ระบบประกันภัยของประเทศ
F: Modify and improve upon the fundamentals คือ การพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานและระบบงานเพื่อให้การปฏิบัติภารกิจมีความรวดเร็วคุ้มค่าและเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านบทบาท การบริหารจัดการภายในองค์กร
FE: Foster expansion of strategic alliance network to promote industry growth and increase market fluidity คือ การสร้างและขยายเครือข่ายพันธมิตรและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตและสภาพคล่องของภาคอุตสาหกรรม
C: Ensure the proper market conduct to enhance the industry’s credibility and stability คือ การพัฒนาระบบการกำกับและตรวจสอบด้านเสถียรภาพ พฤติกรรมการปฏิบัติและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านการประกันภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อระบบประกันภัย
T: Using the advancement of techniques and information technology to increase the public knowledge in utilizing insurances to manage risk and maintain stability คือ การพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี และฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบประกันภัยของประเทศให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ถูกสะท้อนให้เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2559 – 2563) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายหลักที่ต้องการมุ่งเน้นให้ “ระบบประกันภัยไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน” และได้กำหนดยุทธศาสตร์หลัก 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1: การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัย ด้วยการนำระบบสารสนเทศเข้ามาใช้ลดต้นทุนการประกอบธุรกิจประกันภัยโดยการจัดตั้งศูนย์ Center of InsurTech ซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลกลางแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีประกันภัยในการพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัย อีกทั้งได้ทำการยกระดับมาตรฐานการดำเนินการให้ธุรกิจมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและคัดกรองบุคลากรที่มีคุณภาพในเข้าเข้ามาดำเนินการธุรกิจประกันภัย อาทิ การกำกับธุรกิจประกันภัยตามระดับความเสี่ยง ระยะที่ 2 และการบริหารความเสี่ยงเชิงบูรณาการด้วย Own Risk and Solvency Assessment และการจัดทำแนวทางปฏิบัติด้านการบริหารความเสี่ยงด้านระบบสารสนเทศ เป็นต้น รวมทั้ง สำนักงาน คปภ. ยกระดับพฤติกรรมทางตลาดของคนกลางประกันภัยผ่านประกาศ คปภ. ว่าด้วยเรื่อง การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย ให้ครอบคลุมทุกช่องทางการขายตั้งแต่ตัวแทน/นายหน้าประกันภัย ธนาคารพาณิชย์ เทเลเซลล์ และไปรษณีย์ ส่วนช่องทางออนไลน์ทางอิเล็กทรอนิกส์จะยึดตามประกาศเสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยเพื่อรองรับข้อพิพาทด้านประกันภัย อีกทางหนึ่ง
ยุทธศาสตร์ที่ 2: การเสริมสร้างความรู้และการเข้าถึงการประกันภัย ด้วยการให้ความรู้เชิงรุกผ่านโครงการ OIC for Community และขยายช่องทางการเข้าถึงการประกันภัยของประชาชนด้วยการข่ายประกันภัยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีระบบการรักษาความปลอดภัยและมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยง อาทิ ประกันภัยข้าวนาปี ประกันภัยลำไย และประกันอุบัติเหตุที่มีเบี้ยประกันภัยที่ผู้มีรายได้น้อยสามารถซื้อได้ โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 7 บาท เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3: การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน ส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดประกันภัยในภูมิภาคอาเซียนผ่านการจัดทำหลักสูตรและความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่ง สำนักงาน คปภ. ได้มีการลงนามความ ตกลง MOU กับ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สปป. ลาว และกัมพูชา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และการจัดตั้งโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox) เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัย นายหน้าประกันภัยนิติบุคคล หรือ FinTech Firms ที่ร่วมกับบริษัทประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัยนิติบุคคล สามารถนำนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและ/หรือลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ มาทดลองประกอบธุรกรรมภายใต้ขอบเขตการกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ.
ยุทธศาสตร์ที่ 4: การเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย ด้วยการพัฒนาและยกระดับบุคลากรประกันภัยผ่านสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูงซึ่งนอกจากจะจัดหลักสูตรอบรมแล้ว ทางสถาบันฯ จะมีโครงการให้ทุนวิจัยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัยแก่ผู้ที่สนใจทั้งในและต่างประเทศซึ่งร่วมถึง ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในกลุ่มประเทศ CLMV อีกด้วย และนอกจากนี้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัย (Insurance Bureau System)
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร ได้สอบถามถึงการกำกับดูแลตัวแทน/นายหน้า ซึ่งมีปริมาณมากกว่า 500,000 ราย ว่าสำนักงาน คปภ. มีการกำกับดูแลอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและมีการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร ซึ่งเลขาธิการ คปภ. ได้ให้ข้อมูลว่า ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก สำหรับการกำกับดูแล นอกจากกำกับดูแลโดยตรงแล้ว ยังกำกับดูแลผ่านบริษัทประกันภัย รวมทั้งสมาคมประกันภัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้มีการออกประกาศ คปภ. ว่าด้วยเรื่อง การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยฯ เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งได้แก้ไข พ.ร.บ. ประกันชีวิต/วินาศภัย ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แล้ว โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการกำกับคนกลางประกันภัย โดยมีระดับการลงโทษจากเบาไปหาหนัก และสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงาน คปภ. ได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยในส่วนของสำนักงาน คปภ. นอกจากจะมีการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ประชาชนในเชิงรุกแล้ว ยังมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ สายด่วน คปภ. 1186 ทั้งยังมีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยและมีอนุญาโตตุลาการคอยดูแลเรื่องดังกล่าว
ในตอนท้าย เลขาธิการ คปภ. ได้ย้ำว่าการพัฒนาธุรกิจประกันภัยควรมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานกำกับแลธุรกิจประกันภัยเพื่อให้การพัฒนาดังกล่าวมีรูปแบบที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคนั้นๆ และก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดแก่ผู้เอาประกันภัยและเศรษฐกิจร่วมกัน
ที่มา : https://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/89259