เลขาธิการ คปภ. กระตุ้นธุรกิจประกันภัยไทยปรับโมเดลธุรกิจพร้อมเร่งสปีดศักยภาพสู่ยุคดิจิทัล

เลขาธิการ คปภ. กระตุ้นธุรกิจประกันภัยไทยปรับโมเดลธุรกิจพร้อมเร่งสปีดศักยภาพสู่ยุคดิจิทัล

เตรียมทำคลอดแผนพัฒนาการประกันภัย (ฉบับที่4) ต่อยอดธุรกิจประกันภัยไทยเติบโต อย่างยั่งยืน และนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นรูปธรรม ควบคู่กับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ของผู้บริโภคในทุกมิติ
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ“เหลียวหลัง แลหน้าธุรกิจประกันภัยไทย” ซึ่งจัดโดยนิตยสาร Thailand Insurance สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางของธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย และสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ส่งเสริมธุรกิจประกันภัย ตลอดจนการสร้างความรู้ ความเข้าใจในธุรกิจประกันภัยให้กับประชาชน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2562 ณ อาคารสำนักงานแห่งใหม่ สมาคมประกันวินาศภัยไทย (ซอยปุณวิถี) เขตพระโขนง กรุงเทพฯ ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้ปาฐกถาพิเศษโดยฉายภาพทิศทางนโยบายของ สำนักงาน คปภ. ที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทย ในบริบทของการ “เหลียวหลัง” ด้วยการมองย้อนกลับไปดูทิศทางและกรอบการดำเนินงานตามแผนพัฒนาการประกันภัยที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นจากแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2549-2554) แต่บังคับใช้แค่ 4 ปี (พ.ศ.2549-2552) เพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสถาบันทางการเงินและแผนพัฒนาตลาดทุนไทย โดยแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 1 มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้มีมาตรฐาน มีศักยภาพและขีดความสามารถพร้อมแข่งขัน มีการบริหารจัดการและการให้บริการตามมาตรฐานสากล โดยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยจากกรมการประกันภัย เป็นสำนักงาน คปภ. รวมถึงปรับปรุงพระราชบัญญัติประกันชีวิตและพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทด้านการประกันภัยและได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความต้องการและสภาพความเสี่ยงในขณะนั้น
ต่อมาเมื่อเข้าสู่แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2553-2557) สำนักงาน คปภ. ได้วางกรอบการพัฒนาธุรกิจประกันภัยต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบตามความเสี่ยง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้ธุรกิจประกันภัย มีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ และความท้าทายจากสภาพแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นที่มาของการนำมาตรฐานการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Capital: RBC) และระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System: EWS) มาใช้ร่วมกับการเร่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย และการพัฒนาฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย รวมทั้งจัดตั้งสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูงเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการประกันภัยให้แก่ประชาชนและบุคลากรประกันภัย  โดยเมื่อจบแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 2 ธุรกิจประกันภัยไทย ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถก้าวผ่านบททดสอบสำคัญได้อย่างราบรื่น จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศมหาศาล และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยกว่า 4 แสนล้านบาท โดยที่บริษัทประกันภัยยังมีความมั่นคง
เมื่อก้าวเข้าสู่แผนพัฒนาการประกันภัย (ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2559 –2563) ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ตนเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ คปภ. (คนที่3) ของสำนักงาน คปภ. ในขณะที่อุตสาหกรรมประกันภัยไทยพบกับบททดสอบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม ระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่บริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ (New Normal) ระบบการเงินโลกมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทย การขาดแคลนแรงงาน การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม (Climate Change) และการพัฒนาของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแบบก้าวหน้า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลจึงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยตามแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 เพื่อให้ระบบประกันภัยไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชนด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยขึ้นเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนทำให้ประชาชนที่มาร้องเรียนมีทางเลือกในการระงับข้อพิพาทด้านประกันภัยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด มีการเสริมสร้างความรู้และการเข้าถึงการประกันภัย ด้วยการให้ความรู้เชิงรุกผ่านโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน โครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the trainers) โดยนำภาคอุตสาหกรรมประกันภัยร่วมลงพื้นที่รณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยเชิงรุกแก่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยง อาทิ การประกันภัยสำหรับรายย่อย (Micro Insurance) ที่มีเบี้ยประกันภัยราคาถูกและความคุ้มครองเข้าใจง่าย เช่น การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยลำไย การประกันภัยประมงเรือพื้นบ้าน การประกันภัยอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน และสนับสนุนบริษัทประกันภัยที่มีศักยภาพออกไปลงทุนในต่างประเทศ และเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย เพื่อยกระดับบุคลากรประกันภัยด้วยการจัดทำหลักสูตรและการอบรมต่างๆ เช่น หลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง หรือ หลักสูตร วปส. ซึ่งเป็นหลักสูตรสหวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับประกันภัยอย่างรอบด้าน รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการประกันภัย เพื่อให้ระบบประกันภัยมีฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย (Insurance Bureau System) และการเชื่อมโยงข้อมูลที่สามารถรองรับการดำเนินงานของหน่วยงานกำกับบริษัทประกันภัย หน่วยงานเครือข่าย และประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการพัฒนา OIC Gateway เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลกับบริษัทประกันภัยกว่า 80 แห่งเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อบริการประชาชนผ่านระบบกลางที่เดียว และต่อยอดให้เกิดความร่วมมือทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมประกันภัยในอนาคต มีการจัดตั้ง Center of InsurTech, Thailand (CIT) เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประกันภัย (InsurTech) และเทคโนโลยีประกันภัยในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (Supervisory Technology : SupTech) ให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งผลักดันให้ประเทศไทยเป็น InsurTech Startup Hub โดยศูนย์ CIT จะขยายบทบาทในการร่วมพัฒนา RegTech และ SupTech ให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็น One Stop Services ศูนย์กลางในคำปรึกษา และคำแนะนำให้แก่บริษัทประกันภัย และ Startup ในทุกมิติ เพื่อรองรับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต
อีกเรื่องหนึ่งถือเป็นผลสำเร็จที่น่ายินดี คือ ผลการประเมินภาคการเงินสาขาการประกันภัย (Financial Sector Assessment Program – FSAP) ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการเข้ารับการประเมินภาคประกันภัยเป็นครั้งแรก และได้ผลลัพธ์ที่ดีมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง โดยผลการประเมินได้คะแนนเป็นอันดับที่ 3 ในทวีปเอเชีย และเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบประกันภัยของประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าทิศทางการพัฒนาธุรกิจประกันภัย is on the right track ภาคประกันภัยของไทย มีมาตรฐานสากล สามารถเทียบชั้นได้กับต่างประเทศ
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า สำหรับดำเนินงานของ สำนักงาน คปภ. ในบริบท “แลหน้าธุรกิจประกันภัยไทย” คือ การมองอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจประกันภัยไทยนั้น เนื่องจากแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 กำลังจะสิ้นสุดลงในปี 2563 ดังนั้นในปีนี้ สำนักงาน คปภ. จึงได้เตรียมการในการจัดทำแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564-2568) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัยให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรักษาสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนและการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัย มีศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งส่งเสริมบทบาทของธุรกิจประกันภัยไทยให้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับบริบทด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในมุมของธุรกิจประกันภัยจะต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ อาทิ บริษัท Sunday หนึ่งใน InsurTech ของไทย ที่สร้างจุดขายด้วยจัดทำ Application ด้วยการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) Machine Learning เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real-Time ในการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยทั้งการประกันภัยรถและการประกันสุขภาพที่เหมาะสมตามความเสี่ยงของลูกค้า
และอีกประเด็นที่ต้องพูดถึง คือ การเปิดตัวของ Facebook ในการสร้างสกุลเงินดิจิทัลใหม่ล่าสุดของโลกที่มีชื่อว่า ลิบร้า (Libra) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นสกุลเงินของโลก (Global Currency) ดำเนินงานอยู่บนระบบบล็อกเชน และ Libra อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ Cryptocurrency กลายเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้จริง บน Platform ของ Facebook ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก และโดยส่วนตัวมองว่า Libra ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ภาคการเงิน แต่กระทบภาคประกันภัยและธุรกิจอื่นๆ ด้วย โดยในอนาคต Libra อาจไม่ได้เป็นแค่เงินสกุลที่ใช้ในการชำระเบี้ยประกันภัยและชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ Libra จะทำให้การซื้อขายสินค้าและบริการ รวมถึงประกันภัยข้ามพรมแดนบน Facebook เกิดขึ้นได้โดยไม่ยากอีกต่อไป ซึ่งเป็นโจทย์ที่ ทั้งภาคธุรกิจ หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องต้องหาทางรับมือกันต่อไป
นอกจากนี้ บทบาทการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการลงทุนจะก่อให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งบริษัทประกันภัยต่างชาติมีความได้เปรียบในเรื่อง know-how ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิผลในประเทศไทย ส่งผลให้บริษัทประกันภัยในประเทศต้องปรับตัวเพื่อหากลุ่มผู้เอาประกันภัยใหม่ๆ และยกระดับการประกันภัยเพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ ซึ่ง protection gap ในประเทศไทยเกิดจากผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยง และต้องการความคุ้มครองมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มคนจำนวนมากของประเทศที่ระบบประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยงภัยไม่ทั่วถึง ซึ่งถือเป็นโอกาสของบริษัทประกันภัยไทยที่จะเข้าไปรับประกันภัย เช่น การประกันภัยพืชผลตามฤดูกาล การประกันภัยทางการเกษตรแบบเป็น package ร่วมกับกรมธรรม์ประเภทอื่น หรือแม้กระทั้งการประกันภัยแบบครัวเรือน ที่ไม่ได้คุ้มครองแค่ผู้เอาประกันภัยแต่คุ้มครองทั้งครอบครัว ดังนั้นการขยายฐานผู้เอาประกันภัยจึงมีความสำคัญควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีราคาไม่แพง โดยเฉพาะการประกันภัยสุขภาพที่คุ้มครองเฉพาะโรค ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ควรมีการเก็บข้อมูลที่แยกตามความคุ้มครองที่แม่นยำและมีระบบการบริหารจัดการที่เหมาะสมอีกด้วย
“ผมได้มองย้อนอดีตและส่องอนาคตของธุรกิจประกันภัยไทย โดยฉายภาพพัฒนาการของการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้เห็นแล้วว่าผ่านอะไรมาบ้าง บทเรียนที่ได้เรียนรู้คืออะไร และอะไรคือความท้าทายและโอกาสของภาคธุรกิจที่จะปรับตัวให้เข้าสู่การประกันภัยแบบใหม่ ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค กระแส InsurTech และการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น ธุรกิจประกันภัยอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ให้เหมาะสมกับบริบทการเปลี่ยนแปลงต่างๆโดยต้องไม่ติดกับดักของโมเดลธุรกิจประกันภัยแบบเดิมๆ หากใครไม่ปรับตัวหรือปรับตัวไม่เพียงพออาจจะถูกdisrupted ได้ ในขณะเดียวกัน สำนักงาน คปภ. ไม่สามารถเดินหน้าหรือผลักดันมาตรการต่างๆ ไปสู่จุดหมายใหม่ได้โดยลำพัง ผมจึงคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือ และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต่ออุตสาหกรรมประกันภัย อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา : https://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/89734

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *