ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา The International Insurance Regulation and Supervision Seminar เรื่อง แนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในระดับสากล โดยร่วมกับสมาคมนายทะเบียนประกันภัย (National Association of Insurance Commissioners หรือ NAIC) ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 14-15 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรม Renaissance กรุงเทพฯ
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นผลจากการขับเคลื่อนเอ็มโอยูที่คปภ.มีกับ NAIC
ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการเติมเต็มองค์ความรู้ทางเทคนิคให้กับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยจากประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเซีย เกี่ยวกับพัฒนาการใหม่ๆและวิธีการแก้ไขปัญหาด้านประกันภัยที่เกิดในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลจากมุมมองประสบการณ์ของหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัย และภาคธุรกิจประกันภัยของประเทศสหรัฐอเมริกา อีกทั้งยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลประกันภัยในการรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมยุคดิจิทัล ซึ่งต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยควบคู่กับการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Big data , Artificial intelligence, Blockchain และ IoT เป็นต้น
สำหรับหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยที่เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วย NAIC ประเทศสหรัฐอเมริกา และหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของประเทศต่างๆในเอเซีย ได้แก่ บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง มาเก๊าสาธารณรัฐประชาชนจีน ภูฏาน ศรีลังกา ไต้หวัน รวมทั้งผู้แทนจากสำนักงาน คปภ.
ในการนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้ฉายมุมมองต่อที่ประชุมเกี่ยวกับทิศทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของไทย โดยกล่าวถึงการส่งเสริมให้มีการพัฒนาและนำเทคโนโลยีประกันภัยมาใช้ และความสำเร็จของประเทศไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรายย่อยแบบใหม่ๆ อาทิ ประกันภัยลำไย ฉบับแรกของโลก โดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมตรวจวัดความเสียหายจากดัชนีฝนแล้ง ประกันภัยข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และล่าสุด ประกันภัยประมง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับ Commissioner จาก NAIC และผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทประกันภัยชั้นนำของโลก มาสะท้อนมุมมองและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากมุมมองของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และจากภาคธุรกิจประกันภัย ที่มีมุมมองร่วมกันคือการทำให้ประกันภัยมีความสะดวก ง่ายต่อการเข้าใจ และสามารถทำให้ผู้บริโภคทุกระดับเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งนวัตกรรมเทคโนโลยีและความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลจะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลและศักยภาพของภาคธุรกิจประกันภัย นอกจากนี้หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย มีความจำเป็นที่จะต้องกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในเชิงป้องกัน เช่น การมีกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถือกรมธรรม์ ทั้งยังต้องให้ความสำคัญต่อการใช้กระบวนการต่างๆ เช่น การตรวจสอบและสืบสวนข้อเท็จจริง กระบวนการให้บริการ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน การยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อป้องกันการฉ้อฉลประกันภัย โดยการตรวจสอบในเชิงลึกและการวิเคราะห์ตลาดจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับประเด็นดังกล่าว
สำหรับพัฒนาการด้านเทคโนโลยีประกันภัย (InsurTech) นั้น ปัจจุบัน NAIC และบริษัทประกันภัยของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลลงทุนในเรื่องระบบเทคโนโลยีประกันภัย โดยให้ความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีในการกำกับดูแล เช่น นำเทคโนโลยีมาใช้ตรวจสอบข้อมูลทางด้านช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัย อัตราเบี้ยประกันภัย การรับประกันภัย การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และการวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทประกันภัย ซึ่งการใช้ Big Data และ Artificial intelligence เป็นสิ่งสำคัญในการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูล โดย NAIC และบริษัทประกันภัยต่างๆของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการแชร์ข้อมูลทางด้านประกันภัยในแต่ละมลรัฐ เพื่อช่วยในกระบวนการตรวจสอบรูปแบบธุรกิจประกันภัยที่มีความซับซ้อน รวมทั้งกรณีฉ้อฉลประกันภัย การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และข้อมูลต่างๆ ของผู้เอาประกันภัย
“หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย จะต้องมีกฎหมายที่ดี และบังคับใช้กฎหมายอย่างสมดุลและเหมาะสม รวมทั้งจะต้องมีฐานข้อมูลทางด้านประกันภัยที่ดี และครบถ้วน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพโดยจะต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้เกิดความมั่นคง ส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่เหมาะสม เป็นธรรม และหน่วยงานกำกับดูแลเองก็จะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการจัดการกับช่องว่างสำหรับความเสี่ยงในการจัดการทางด้านประกันภัย และลดความเสี่ยงที่เกิดจากการฉ้อฉลทางด้านประกันภัยของบริษัทประกันภัย ทั้งนี้ ผมเชื่อมั่นว่า การประชุมสัมมนาครั้งนี้สำนักงาน คปภ. จะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือด้านการกำกับธุรกิจประกันภัยที่สำคัญกับพันธมิตรระดับภูมิภาคอย่าง NAIC และอีกหลายประเทศ ซึ่งเป็นการต่อยอดและสร้างโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็น และประสบการณ์การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่ทันสมัย เพื่อนำมาต่อยอดและพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยทั้งระบบให้เกิดความแข็งแกร่ง เป็นที่เชื่อมั่นในระดับมาตรฐานสากลต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : https://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/89871