กฎหมายใหม่คุ้มครองประชาชนเพิ่มขึ้น โดย คปภ. เตรียมกลไกรองรับการบังคับใช้เต็มสูบ พร้อมเดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัย ทั้งในส่วนประกันชีวิตและประกันวินาศภัยเพื่อแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยแบ่งกลุ่มกฎหมายที่แก้ไขเป็น 3 กลุ่ม มีนำเสนอร่างกฎหมาย ซึ่งร่างกฎหมายกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ คปภ. กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีตามลำดับ และต่อมาได้มีการนำร่างกฎหมายในกลุ่มที่ 1 ที่มีการปรับปรุงแล้วเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยหลังจากที่สนช. ให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว สนช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งมีความคืบหน้าตามลำดับ และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ร่างกฎหมายในกลุ่มที่ 1 ได้ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 2-3 จากที่ประชุมสนช. แล้ว อนึ่งสำหรับร่างกฎหมาย กลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเสริมเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัท ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาถ้อยคำของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนร่างกฎหมาย กลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมการควบโอนกิจการและความรับผิดชอบของกรรมการและผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัท ได้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด คปภ. แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการรับฟังความเห็นจากภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องก่อนจะนำเสนอต่อกระทรวงการคลังต่อไป
สำหรับร่างแก้ไขกฎหมายในกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่มุ่งเน้นให้ความคุ้มครองประชาชนโดยตรง โดยได้มีการเพิ่มบทบัญญัติการป้องกันและปราบปรามเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย ปรับปรุงการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทน/นายหน้าประกันภัยให้เข้มข้นขึ้น รวมทั้งปรับปรุงมาตรการการลงโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวกับประกันภัยดังนี้
(1) กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย
(2) กำหนดบทบัญญัติเพื่อรองรับการใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในธุรกิจประกันภัย
(3) แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ประเมินวินาศภัย
(4) แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของตัวแทน/นายหน้าประกันภัย
(5) กำหนดหน้าที่และความรับผิดของนิติบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันภัย
(6) กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ตัวแทน/นายหน้าประกันภัยต้องปฏิบัติตามและกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามตัวแทน/นายหน้าประกันภัยกระทำการตามที่กำหนด
(7) แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจสอบการปฏิบัติของตัวแทน/นายหน้าประกันภัย
(8) แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการสั่งพักและเพิกถอนใบอนุญาตรวมทั้งการอุทธรณ์คำสั่งพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย
(9) แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย
เพื่อเป็นเตรียมการรองรับการบังคับใช้กฎหมายใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพ สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดกรอบเวลา แนวทางดำเนินการ ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน และอยู่ระหว่างการยกร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้จะอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจสาระสำคัญของบทบัญญัติที่มีการปรับปรุงแก้ไขของกฎหมายทั้งสองฉบับให้กับบุคลากรผู้บังคับใช้กฎหมายของสำนักงาน คปภ. ภาคธุรกิจประกันภัย ภาคการเงินอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนทั่วไป เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประโยชน์สูงสุด
“ร่างพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ…. และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ…ที่แก้ไขเพิ่มเติม จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย โดยจะยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเพื่อให้บริษัทประกันภัยมีการบริหารจัดการที่ดี มีความมั่นคงทางการเงิน สามารถประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน ปฏิบัติตามสัญญาที่มีไว้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนจะกำกับดูแลตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัยซึ่งเป็นผู้ซึ่งให้บริการกับประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดี รวมถึงป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัย อันจะเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในระบบประกันภัย และใช้การประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงและสร้างความมั่นคงในชีวิตให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในที่สุด
ที่มา : https://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/89176