คปภ. เดินสายลงพื้นที่ให้ความรู้ “ชาวนา – Trainers” จังหวัดนครพนม ส่งท้าย “ภาคเหนือ-กลาง-อีสาน” ปิดจ็อบทำประกันภัยข้าวนาปี 30 มิ.ย.นี้

คปภ. เดินสายลงพื้นที่ให้ความรู้ “ชาวนา – Trainers” จังหวัดนครพนม ส่งท้าย “ภาคเหนือ-กลาง-อีสาน” ปิดจ็อบทำประกันภัยข้าวนาปี 30 มิ.ย.นี้

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ได้มอบหมายให้ นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ นำคณะเจ้าหน้าที่ คปภ. ลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านประกันภัย แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่จังหวัดนครพนม โดยเปิดเผยว่า ในปีนี้ สำนักงาน คปภ. มุ่งมั่นและทุ่มเทให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่เกษตรกรผ่านโครงการอบรมความรู้ประกันภัย “Training for the Trainers” เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดต่อให้กับเกษตรกร รวมทั้งผลักดันระบบการประกันภัยให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยนาท เพชรบูรณ์ น่าน เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี นครพนม และนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้จัดการอบรมฯ ไปแล้ว 8 ครั้ง สำหรับการจัดอบรมฯ ที่จังหวัดนครพนม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 มิถุนายน 2562 นับเป็นครั้ง 9 ของการจัดอบรมฯ ตามโครงการนี้ โดยพบว่าในปี 2561 จังหวัดนครพนม มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จำนวน 1.32 ล้านไร่ มีการทำประกันภัยข้าวนาปี จำนวน 525,908 ไร่ คิดเป็น 39.58 % (อยู่อันดับที่ 22) ที่มีการทำประกันภัยข้าวนาปีของประเทศ ในส่วนของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พบว่า ในพื้นที่จังหวัดนครพนมไม่นิยมปลูกพืชชนิดนี้

รองเลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ในส่วนของรูปแบบการอบรมความรู้ด้านประกันภัยในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 วัน กล่าวคือ ในวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ตนและคณะวิทยากร ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร จำนวน 250 ราย ในพื้นที่ตำบลพิมาน อำเภอนาแก เพื่อรับทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของการทำประกันภัยข้าวนาปี โดยเกษตรกรได้มีการสะท้อนสภาพปัญหาการทำประกันภัยข้าวนาปีในปีที่ผ่านมา โดยมีคณะวิทยากรจากสำนักงาน คปภ. เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. และผู้แทนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมชี้แจง จนเป็นที่เข้าใจของเกษตรกร รวมทั้งได้มีการนำข้อมูลจากการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรในครั้งนี้ไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปีให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อไป

ถัดมาในวันที่ 26 มิถุนายน 2562 เป็นการเปิดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2562 ณ ห้องฟอร์จูนแกรนด์บอลรูม โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว จังหวัดนครพนม โดยมีนางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานและกล่าวขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดนครพนม เป็นสถานที่จัดการอบรมความรู้ด้านประกันภัยในครั้งนี้ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรในจังหวัดนครพนมในการนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ

ในโอกาสนี้ นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จุดเปลี่ยนชีวิตเกษตรกรไทย” โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า ปีนี้มีการกำหนดอัตราค่าเบี้ยประกันภัย ข้าวนาปี อยู่ที่ 85 บาทต่อไร่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 51 บาทต่อไร่ และธ.ก.ส. อุดหนุน 34 บาทต่อไร่   ซึ่งเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแต่อย่างใด ในส่วนของการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอัตราค่าเบี้ยประกันภัย 59 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 35 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุน 24 บาทต่อไร่ เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย เช่นกัน ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อได้รับสิทธิ์ทำประกันภัยข้าวนาปี ประจำปี 2562 ภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของการทำประกันภัยข้าวนาปีในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน (ยกเว้นภาคใต้ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2562) ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรอบที่ 2 สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อได้รับสิทธิ์ทำประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง วันที่ 15 มกราคม 2563 และหากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่แอพพลิเคชั่น “กูรูประกันข้าว” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186

ที่มา : https://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/89611

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *