ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีการเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารพาณิชย์ประกอบกิจการเป็นโกดังเก็บวัสดุของเล่นเด็ก บริเวณตลาดสำเพ็ง ภายในซอยวานิช 1 ถนนจักรวรรดิ แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 จึงได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระลงพื้นที่เพื่อติดตามและประสานงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัยอย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตามพบว่าอาคารพาณิชย์ดังกล่าวกรมธรรม์ประกันภัยหมดอายุความคุ้มครอง
เลขาธิการ คปภ. ได้แสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับผู้ได้รับความเสียหายทุกท่านในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และกล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นกรณีศึกษา จึงขอให้ประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับการทำประกันภัย เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด อุบัติเหตุหรืออุบัติภัยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังนั้น ไม่ควรประมาทและมองข้ามความสำคัญของการทำประกันภัยที่เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่ดีที่สุด ที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระความเดือดร้อนของท่านได้ ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองหรือความเกี่ยวเนื่องกับไฟไหม้ เช่น กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) รวมถึงกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) ที่จะให้ความคุ้มครองกว้างกว่าอัคคีภัย เช่น ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหว ภัยลมพายุ ภัยลูกเห็บ การโจรกรรมและอุบัติเหตุจากสาเหตุที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้อยกเว้น เป็นต้น
สำนักงาน คปภ. ไม่ได้นิ่งนอนใจและมีความห่วงใยต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงอยากเตือนประชาชนให้ความสำคัญในการทำประกันอัคคีภัย โดยเฉพาะผู้ที่ทำประกันภัยไว้แล้วควรตรวจสอบวันหมดอายุในกรมธรรม์ประกันด้วย เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองจากการทำประกันภัยอย่างต่อเนื่อง เพราะการทำประกันภัยสามารถบรรเทาความเสียหายทางการเงินได้เมื่อเกิดภัยที่ไม่คาดคิดขึ้น ประชาชนและผู้ประกอบการต่างๆ สามารถเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยซึ่งมีทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับตามกฎหมาย และควรเลือกซื้อให้เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงของตนเอง โดยขอให้พิจารณาจากสถานที่ตั้ง และลักษณะการใช้อาคารของผู้เอาประกันภัย รวมทั้งความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186 เลขาธิการ คปภ. กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/88180