ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาในหัวข้อ “ประกันภัยถูกทางสร้างเกราะให้ SME” ณ โรงแรม ระยอง แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดระยอง ซึ่งจัดโดยสายกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจด้านประกันภัยในเชิงรุกแก่ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ตลอดจน ผู้ประกอบธุรกิจขนาดย่อม หรือ ผู้ประกอบธุรกิจ SME ได้เข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ความคุ้มครอง ตลอดจนข้อยกเว้น ของกรมธรรม์ประกันภัยประเภทต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของบุคคลหรือธุรกิจของตนเอง ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก โดยได้รับเกียรติจากนายสุรชัย ยุติธรรมนนท์ นายอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ให้การต้อนรับและได้กล่าวขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดระยองเป็นพื้นที่เป้าหมาย ในการให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่ผู้ประกอบการ SME อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงภัยต่อการประกอบธุรกิจ
คปภ. สนองนโยบายรัฐบาล หนุนผู้ประกอบการ SME จังหวัดระยอง ใช้ระบบประกันภัยบริหารความเสี่ยงรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC • เร่งต่อยอดประกันภัย SME package ช่วยบริหารความเสี่ยงอย่างครบวงจร และตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มธุรกิจ SME อย่างแท้จริง
ในโอกาสนี้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ได้เปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า ในช่วงที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน คปภ. ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังสภาพปัญหาด้านประกันภัย ตลอดจนความต้องการที่แท้จริงของผู้เอาประกันภัย โดยนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการลงพื้นที่มาปรับปรุงและออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ เพื่อรองรับความเสี่ยงภัยและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากและกลุ่มธุรกิจ SME ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัยเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง อีกทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัย เช่น ผลิตภัณฑ์ไมโครอินชัวรันส์ ในรูปแบบต่างๆ อาทิ กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม 7 บาท กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม 10 บาทพลัส กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย จ่ายเบี้ยประกันภัยแค่ 400 บาทต่อปี กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุสงกรานต์สุขใจ พลัส หรือ ประกันภัย 222 รวมไปถึงกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองภัยตามฤดูกาล อย่าง กรมธรรม์ประกันภัยไข้เลือดออก เป็นต้น
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเกษตรกรรม เช่น การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การประกันภัยทุเรียน การประกันภัยโคนมการประกันภัยลำไย และล่าสุดได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อกลุ่มชาวประมงเรือพื้นบ้าน เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหาย จากภัยธรรมชาติให้กับชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งมุ่งเน้นการให้ความคุ้มครองทั้งความเสียหายต่อตัวเรือประมง และการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตของชาวประมง และลูกเรือประมง
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ในการเลือกพื้นที่จังหวัดระยอง เพื่อให้ความรู้ด้านประกันภัยกับกลุ่มผู้ประกอบการ SME ในครั้งนี้ เนื่องจากสำนักงาน คปภ. เล็งเห็นถึงศักยภาพของจังหวัดระยอง ซึ่งมีความหลากหลายในทางเศรษฐกิจทั้งในด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และประมง ทั้งอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC อันจะส่งผลทำให้เป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาในทุกมิติ และในทุกมิติของการพัฒนาความเจริญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างอาชีพ การศึกษา การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาเมืองใหม่ การสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ทันสมัย การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมไปถึงการยกระดับเทคโนโลยีเพื่อรองรับความเจริญที่จะเกิดขึ้นนั้น จำเป็นต้องมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งระบบประกันภัยจะมีบทบาทสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัย แม้ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. จะเดินหน้าภารกิจต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่ม ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมทุกขนาดเข้าถึงระบบประกันภัย แต่สำนักงาน คปภ. จำเป็นต้องเข้าไปดูแลประชาชนกลุ่มรากหญ้า และกลุ่มธุรกิจ SME เป็นพิเศษ เนื่องจากทั้งสองกลุ่มยังขาดความพร้อมและยังใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัยไม่เต็มที่ ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท และวิสาหกิจขนาดกลางไม่เกิน 200 ล้านบาท หรือที่เรียกกันว่า SME package ซึ่งประกอบด้วยการคุ้มครองภัยต่างๆ ที่จะช่วยกลุ่มธุรกิจ SME ในการบริหารความเสี่ยง โดยมีเบี้ยประกันภัยที่ไม่แพง และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่างๆ เพื่อจะตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มธุรกิจ SME ได้ดีขึ้น และพร้อมน้อมรับทุกข้อแนะนำและความเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ด้านนายวิวัฒน์ วารีรัตนโรจน์ อดีตกรรมการบริหารสมาคมประมงจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ เปิดเผยว่า ตนมีธุรกิจทำเรือประมงและแพปลาในพื้นที่อำเภอแกลงมานานกว่า 50 ปี ได้เห็นวิวัฒนาการของการทำประมงพื้นบ้านและการทำประมงขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดระยองมาโดยตลอด และสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ อาชีพการทำประมงมีความเสี่ยงต่อการประสบอุบัติภัยจากภัยธรรมชาติทั้งในขณะออกเรือหาปลาหรือจอดเรืออยู่ที่ชายฝั่ง เพราะถ้าเกิดพายุพัดถล่มเข้ามาวันใดเรือประมงและอุปกรณ์ก็จะได้รับความเสียหาย ซึ่งปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่ออยู่เนืองๆ ดังนั้นการลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SME ของสำนักงาน คปภ. ในครั้งนี้ ทำให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจระบบการประกันภัยมากขึ้น และได้รู้จักกับกรมธรรม์ประมงเรือพื้นบ้านเป็นครั้งแรก ซึ่งนับว่าเป็นกรมธรรม์ที่มีประโยชน์ต่อชาวประมงเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงอยากให้สำนักงาน คปภ.ขยายผลและต่อยอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกรมธรรม์ประมงเรือพื้นบ้านด้วยการประสานความร่วมมือกับทุกจังหวัดที่มีการจัดตั้งสมาคมประมงเพื่อเข้าไปให้ความรู้กับสมาชิกของสมาคมประมงที่มีอยู่ในราว 2 – 4 หมื่นราย ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ชาวประมงได้รับอานิสงส์จากกรมธรรม์นี้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และขอขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่จัดสัมมนาให้ความรู้ในครั้งนี้ทำให้ผู้ประกอบการ SME มีความเข้าใจและตื่นตัวที่จะทำประกันภัยกันมากขึ้น
ในขณะที่ นายสุทธิ ศรีธาราม ผู้ประกอบที่พักอาศัยและเรือข้ามฟากท่าเรือเกาะเสม็ด เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการทำธุรกิจบนความพึงพอใจและความประทับใจของลูกค้าผู้มาใช้บริการอยู่ตลอดเวลา เช่น เมื่อลูกค้าประสบอุบัติเหตุในระหว่างเข้าพักอาศัยหรือนั่งเรือข้ามฟาก ผู้ประกอบการจะสามารถเข้าไปดูแลลูกค้าให้ได้รับการรักษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานได้อย่างไร ในกรณีที่ลูกค้าเข้าพักอาศัยในที่พักแล้วมีกิ่งไม้ขนาดใหญ่หักใส่หลังคาที่พัก ส่งผลทำให้ลูกค้าได้รับบาดเจ็บ ในขณะที่ที่พักอาศัยก็ได้รับความเสียหาย เหล่านี้ถือเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับภาระทั้งทางตรงและทางอ้อม เพียงเพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าจะหาซื้อประกันภัยในลักษณะนี้อย่างไร ดังนั้นการลงพื้นที่ให้ความรู้ของสำนักงาน คปภ. ในครั้งนี้ จึงมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SME เป็นอย่างมาก เพราะทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ ครบวงจร และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ที่มา : https://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/89812