ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีประกันภัย หมายเลขดำ 8132/2561 ที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทศูนย์รับฝากทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แฟมิลี่ โนฮาว จำกัด เป็นโจทก์ที่ 1-3 ยื่นฟ้อง บริษัท นิวแฮมพ์เชอร์อินชัวรันส์ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ฟอลคอล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดเรื่องประกันภัย กรณี เหตุวางเพลิงระหว่างการชุมนุมการเมืองปี 2553 ทั้งนี้ โจทก์ที่ 1-3 ได้ทำสัญญาประกันภัยทรัพย์สินที่อยู่ภายในอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไว้กับจำเลยที่ 1-6 คุ้มครองการเสี่ยงภัยทุกชนิด จำนวนเงินเอาประกันภัยรวม 3,474,408,510.33 บาท ระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2553 – 31 มกราคม 2554 โดยแบ่งสัดส่วนการรับประกันภัยดังนี้ จำเลยที่ 1 ร้อยละ 30 จำเลยที่ 2 ร้อยละ 20 จำเลยที่ 3 ร้อยละ 15 จำเลยที่ 4 ร้อยละ 15 จำเลยที่ 5 ร้อยละ 10 และจำเลยที่ 6 ร้อยละ 10 ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 – 6 ชดใช้เงินค่าสินไหมให้กับโจทย์ทั้งสามเป็นจำนวนเงินรวม 98.057 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2554 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยในตอนหนึ่งมีสาระสำคัญว่า เหตุความเสียหายต่อทรัพย์สินตามฟ้องเป็นผลมาจากมีกลุ่มบุคคลบุกรุกเข้าไปในอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและก่อให้เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารจนทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามที่อยู่ภายในอาคารและตัวอาคารดังกล่าวได้รับความเสียหาย ความเสียหายดังกล่าวจึงเป็นภัยที่เกิดจากเหตุเพลิงไหม้และการกระทำด้วยเจตนาร้ายซึ่งเป็นภัยที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ขณะที่ทางนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายรับฟังได้ว่าเหตุเพลิงไหม้อาคารเกิดขึ้นตอน 15.00 น. ภายหลังแกนนำประกาศยุติชุมนุมตอน 13.00 น. ตลอดจนผู้ก่อเหตุทุบทำลายและเผาอาคารก็มีประมาณ 10 คน ทั้งเป็นกลุ่มบุคคลที่ปิดบังอำพรางใบหน้า และกลุ่มที่ทำในลักษณะมีเจตนาก่อเหตุร้ายแล้วหลบหนีไปทันที โดยไม่มีประชาชนอื่นใดร่วมกระทำการ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งหกไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่าเหตุเพลิงไหม้ตามฟ้องเป็นผลมาจากการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลและเป็นการก่อการร้ายเพื่อหวังผลทางการเมืองตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งหก ดังนั้นจำเลยทั้งหกจึงไม่อาจอ้างข้อยกเว้นความรับผิดชอบตามกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อไปว่า สำนักงาน คปภ. มีความเห็นในเบื้องต้นว่าจำเป็นจะต้องศึกษาและวิเคราะห์โดยละเอียดว่าจะต้องนำคำวินิจฉัยนี้มาเป็นแนวทางในการปรับปรุงเกณฑ์ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยหรือไม่ เนื่องจากข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีมีความแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆ ไป ซึ่งหากข้อเท็จจริงมีความคล้ายคลึงกัน อาจจำเป็นต้องใช้เกณฑ์ที่เหมือนกัน จึงได้สั่งการให้สายกฎหมายและคดี เร่งศึกษาวิเคราะห์โดยเร็วเพื่อปรับปรุงแนวปฏิบัติการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เงื่อนไขความคุ้มครอง และข้อยกเว้นความรับผิดตามสัญญาประกันภัยให้เกิดความชัดเจน เป็นธรรม และเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
“คำพิพากษาศาลฎีกา ถือเป็นคำพิพากษาที่มีลำดับชั้นสูงสุดและเป็นที่ยุติ ซึ่งบริษัทประกันภัย ทั้ง 6 บริษัท ต้องเคารพและปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าว อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบพบว่าทั้ง 6 บริษัทประกันภัยมีฐานะการเงินมั่นคง และการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาดังกล่าวได้มีการตั้ง Outstanding Loss ไว้แล้วตั้งแต่ปี 2553 จึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา : https://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/89398