คปภ.จับตาไม่กระพริบ “แบงค์ขายประกันภัย” ลุยตรวจเข้มในพื้นที่จังหวัดกระบี่ หมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนประกาศ

คปภ.จับตาไม่กระพริบ “แบงค์ขายประกันภัย” ลุยตรวจเข้มในพื้นที่จังหวัดกระบี่ หมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนประกาศ

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดนโยบายในปี 2561 ที่มีแผนยกระดับการให้บริการและพฤติกรรมในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มความเข้มข้นในการกำกับดูแลคนกลางประกันภัย ซึ่งเป็นช่องทางที่สำคัญในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ปรับปรุงกติกาในการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ตลอดจนระบบตรวจสอบการปฏิบัติงานของคนกลางประกันภัยเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในกระบวนการขายและการดูแลกรณีเกิดปัญหาในเรื่องประกันภัย ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบและออกสุ่มตรวจสำนักงานตัวแทนประกันภัยและสำนักงานนายหน้าประกันภัย ตลอดจนธนาคารพาณิชย์ โดยจะมีการ บูรณาการการทำงานร่วมกันทั่วประเทศนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 ตนพร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ประกอบด้วย รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ. ภาค 8 และผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ. จังหวัดกระบี่ ได้ลงพื้นที่ออกตรวจธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เพื่อติดตามการปฏิบัติตามประกาศ คปภ. เกี่ยวกับการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านธนาคาร ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพและเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชน

จากการตรวจติดตามครั้งนี้พบว่า ในภาพรวมหลายธนาคารได้มีการปรับปรุงการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยแบ่งพื้นที่การขายและมีการติดป้ายแสดงไว้อย่างชัดเจน มีการปิดแสดงข้อแนะนำประชาชน 12 ข้อ ในการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัย ผ่านช่องทางธนาคารไว้โดยเปิดเผยเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้ทราบ แต่พบว่าบางสาขาของธนาคารยังมีประเด็นที่ หมิ่นเหม่ต่อการไม่สอดคล้องกับประกาศ คปภ. เกี่ยวกับการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านธนาคารดังกล่าว เช่น แบบฟอร์มใบสมัครบัตรเดบิตบางธนาคารที่มีบริการประกันภัยไม่ได้ระบุค่าเบี้ยประกันแยกจากค่าธรรมเนียมบัตร ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคสับสน อีกทั้งยังพบว่าเอกสารแนะนำผลิตภัณฑ์และแบบฟอร์มใบสมัครฯของบางธนาคารไม่ชัดเจน ทำให้ลูกค้าอาจเกิดความสับสนและไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์ที่ตนซื้อเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัย อีกทั้ง การที่ธนาคารแห่งหนึ่งมีการให้บริการประกันภัยร่วมกับบัญชีเงินฝาก โดยมีการหักค่าดอกเบี้ยเงินฝากในกรณีที่มีบริการประกันภัยดังกล่าว แม้ทางธนาคารจะชี้แจงว่ามิใช่เป็นเบี้ยประกันภัย แต่เมื่อพิจารณาแล้วการหักดอกเบี้ยในกรณีนี้ก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็นการหักดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อนำมาชำระเป็นค่าเบี้ยประกันภัยโดยที่ไม่ได้แจ้งลูกค้าว่ามีการชำระเบี้ยประกันภัย

โดยเบื้องต้น เลขาธิการ คปภ. ได้แจ้งให้ทางสาขาธนาคารดังกล่าวรีบปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ พร้อมกับกำชับทาง สำนักงาน คปภ. ภาค 8 และสำนักงาน คปภ. จังหวัดกระบี่ให้กลับมาตรวจติดตามบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์แก่ประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพ จากนั้น จะได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการแจ้งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขเพื่อมิให้ผู้บริโภคสับสน สำหรับมาตรการที่จะดำเนินการในกรณีที่พบว่ามีการกระทำความผิดจะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยมาตรการทางปกครองสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาตนายหน้าประกันภัย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวทิ้งท้ายว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนในอันที่จะได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง จากการซื้อประกันภัยจากตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่มีคุณภาพ ประชาชนควรตรวจสอบว่าผู้เสนอขายประกันภัย เป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง โดยสามารถตรวจสอบสถานะตัวแทน/นายหน้าประกันภัยได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. www.oic.or.th  Application : รอบรู้ประกันภัย หรือสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186

 

ที่มา : http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/88266

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *