ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับนโยบายขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยการเกษตร เพื่อนำระบบประกันภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นสำหรับพืชผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ และประมงให้กับเกษตรกร สร้างความมั่นคงในชีวิต ยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกร และลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของประชาชน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล เลขาธิการ คปภ. ในฐานะนายทะเบียน ได้ให้ความเห็นชอบแบบและข้อความ กรมธรรม์ประกันภัยโคนม และอัตราเบี้ยประกันภัยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2561 และมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565
โดยกรมธรรม์ประกันภัยโคนมเป็นความร่วมมือในการดำเนินการระหว่าง บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งให้ความคุ้มครองแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม (ผู้เอาประกันภัย) ที่ได้รับความสูญเสียหรือเสียหายใน 4 กรณี โดยกรณีแรก คือ โคนมตายเนื่องจาก อุบัติเหตุ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า น้ำท่วม ดินถล่ม พายุ แผ่นดินไหว จำนวนเงินเอาประกันภัยตั้งแต่ 16,500 – 18,000 บาท กรณีที่สองคือ โคนมตายเนื่องจากเจ็บป่วย จำนวนเงินเอาประกันภัยตั้งแต่ 16,500 – 18,000 บาท กรณีที่สามคือ ความสูญเสียที่เกิดจากการเจ็บป่วยของโคนมด้วยโรคปากและเท้าเปื่อย จนไม่สามารถให้น้ำนมได้ จำนวนเงินเอาประกันภัยตั้งแต่ 3,300 – 3,600 บาท และกรณีที่สี่คือ ความสูญเสียที่เกิดจากการเจ็บป่วยของโคนมด้วยโรคเต้านมอักเสบจนไม่สามารถให้น้ำนมได้ จำนวนเงินเอาประกันภัยตั้งแต่ 1,650 – 1,800 บาท
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีที่สองถึงกรณีที่สี่ มีระยะเวลารอคอย 30 วัน นับจากวันที่กรมธรรม์ประกันภัยเริ่มมีผลบังคับ ซึ่งการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจะจ่ายตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ตามที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยแบบต่อตัวต่อปี และเบี้ยประกันภัยอยู่ระหว่าง 600-1,257 บาท สำหรับโคนมที่เอาประกันภัย ต้องมีอายุตั้งแต่ 18 เดือน แต่ไม่เกิน 8 ปี และทุกตัวที่อยู่ในฟาร์มจะต้องมีสุขภาพสมบูรณ์ และมีใบรับรองสุขภาพจากสัตว์แพทย์ และเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้เอาประกันกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวนี้ยังสามารถแบ่งชำระเป็นรายงวดได้อีกด้วย
“สำนักงาน คปภ. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาลส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยและความต้องการของประชาชนที่สามารถตอบสนองการดำเนินชีวิตของประชาชนผู้มีรายได้น้อยตลอดจนขยายช่องทางการเข้าถึงการประกันภัยกับประชาชนให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก ซึ่งจะบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ควบคู่กับการสร้างความรู้เรื่องการประกันภัยในด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรไทยให้มีความรู้ความเข้าใจ และเล็งเห็นความสำคัญของการประกันภัยมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในการปฏิรูปนโยบายการประกันภัยพืชผลชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ได้พัฒนาสื่อความรู้ในรูปแบบ Application เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่ายและทั่วถึง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย