อนุมัติแบบกรมธรรม์ประกันภัยข้าวและอัตราเบี้ยประกันภัยแล้ว เตรียมยกทีมลงพื้นที่กระจายความรู้สู่ชาวนาไทยประเดิมจังหวัดเชียงใหม่ที่แรก เผยใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอบรมให้ความรู้เกษตรกรชาวนา
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 เห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากปี 2560 เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี ได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดเป้าหมายสูงสุดไม่เกิน 30 ล้านไร่ สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ได้เตรียมความพร้อมและเริ่มเดินหน้าเร่งขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว เพื่อให้ทันฤดูการเพาะปลูก โดยเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 นายทะเบียน ได้ให้ความเห็นชอบแบบและข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัย ของกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 แล้ว ซึ่งมีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 22 บริษัท โดยบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการสามารถรับประกันภัยข้าวได้แล้ว
สำหรับรูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายการรับประกันภัยสูงสุดไว้ไม่เกิน 30 ล้านไร่ มีเงื่อนไขการรับประกันภัยคือ เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในปีการผลิต 2561/62 โดยแบ่งกลุ่มผู้เอาประกันภัย เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ของ ธ.ก.ส. ทุกราย โดยมีพื้นที่เป้าหมาย จำนวนไม่เกิน 29 ล้านไร่ และกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มเกษตรกรทั่วไปที่เพาะปลูกข้าวนาปี ที่ไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. โดยมีพื้นที่เป้าหมาย จำนวนไม่เกิน 1 ล้านไร่ สำหรับอัตราเบี้ยประกันภัยยังคงเดิม คือ 90 บาทต่อไร่ ซึ่งเป็นอัตราเดียวทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะได้รับวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 1,260 บาทต่อไร่ สำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 6 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และไฟไหม้ และวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 630 บาทต่อไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด ทั้งนี้ในส่วนของค่าเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่นั้น รัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรผู้ทำประกันภัย 54 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุนส่วนที่เหลือ 36 บาทต่อไร่ (โดยภาครัฐยังอุดหนุนค่าอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย) ดังนั้นเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส. จะไม่เสียเงินค่าเบี้ยประกันภัยเลย แต่ถ้าไม่ได้เป็นลูกค้าธ.ก.ส. จะจ่ายเบี้ยประกันภัยเองเพียง 36 บาทต่อไร่ โดยมีระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่ฤดูการเพาะปลูก ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ยกเว้นภาคใต้ ไม่เกินวันที่ 15 ธันวาคม 2561
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเร่งเดินหน้าโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2561 ได้จัดประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) เพื่อมอบนโยบายให้แก่สำนักงาน คปภ. ภาค ทั้ง 9 ภาค ให้เตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวทันที เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการรับประกันภัยข้าวนาปี ปี 2561 และให้เกษตรกรชาวนามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์และความจำเป็นของการประกันภัยข้าวนาปี โดยสำนักงาน คปภ. จะร่วมบูรณาการกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมการปกครอง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมประชาสัมพันธ์ กรมการข้าว สมาคมประกันวินาศภัยไทย และ ธ.ก.ส. ในการจัดโครงการ“อบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปี” ประจำปี 2561 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านประกันภัย โดยเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายในการเข้ารับการอบรมครั้งนี้ประกอบด้วย เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้จัดการสาขาและพนักงาน ธ.ก.ส. ประชาสัมพันธ์จังหวัด และสื่อมวลชน เป็นต้น และเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องการประกันภัยข้าวนาปี จึงได้เพิ่มกลุ่มผู้เข้ารับการอบรมในโครงการดังกล่าว ได้แก่ เจ้าหน้าที่จากกรมการข้าว และกำนันในพื้นที่ ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ในลักษณะการสร้างเครือข่ายด้านองค์ความรู้และความเข้าใจด้านการประกันภัย รวมถึงเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันและสร้างแรงจูงใจให้กับชาวนาไทยให้เข้าสู่ระบบการบริหารความเสี่ยงภัยได้อย่างทั่วถึง
สำนักงาน คปภ. กำหนดแผนการลงพื้นที่จัดอบรมเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่กำหนดไว้ 9 จังหวัด ในปี 2561 นี้เพิ่มขึ้น เป็น 10 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยประเดิมจัดครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 29 – 30 เมษายน 2561 ต่อด้วย จังหวัดลพบุรี จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดพะเยา จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดพัทลุง และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรมในโครงการดังกล่าว สำนักงาน คปภ. จึงได้เพิ่มกิจกรรมการลงพื้นที่ไปยังศูนย์การเรียนรู้ หรือศูนย์วิจัยเกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าวในจังหวัด ตลอดจนพบปะกับชุมชนในพื้นที่เพื่อให้ได้รับทราบสภาพทั่วไปของพื้นที่ และสภาพปัญหาของการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนวิธีการที่เกษตรกรใช้ในการแก้ไขปัญหาเพื่อจะได้นำมาปรับปรุงโครงการประกันภัยข้าวนาปีให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอบรม จึงได้ใช้เทคโนโลยีมาช่วย โดยได้จัดทำคู่มือสำหรับ Trainers ใน 2 รูปแบบ คือ ในรูปแบบแผ่นพับ Infographic และ ภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบ Animation ซึ่งคู่มือทั้ง 2 รูปแบบนี้สามารถดาวน์โหลดข้อมูลดังกล่าวผ่านการสแกน QR Code ซึ่งจะแสดงกระบวนการ ขั้นตอน วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ ของการรับประกันภัยข้าวนาปี ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล และมีความเข้าใจในขั้นตอนการทำประกันภัยข้าวนาปีได้ง่ายขึ้น รวมถึงสามารถนำไปใช้ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรได้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น
“สำนักงาน คปภ. ตระหนักถึงความสำคัญของการนำระบบประกันภัยไปช่วยลดความเลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของประชาชน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งอาชีพทำนาในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากต้องพึ่งพิงปัจจัยทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก เกษตรกรชาวนาจึงมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ และแมลงศัตรูพืช ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกษตรกรชาวนาส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้ค่อนข้างต่ำ ไม่คงที่แน่นอน และบางรายต้องสูญเสียที่ดินทำกิน จึงจำเป็นต้องมีระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและยกระดับรายได้ สำนักงาน คปภ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการอบรมนี้จะเป็นประโยชน์และขยายผลไปถึงเกษตรกรชาวนาไทยให้มีความรู้ความเข้าใจ และเล็งเห็นความสำคัญของการประกันภัยมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในการปฏิรูปนโยบายการประกันภัยพืชผล ซึ่งนำไปสู่การสร้างความมั่นคงในชีวิต และยกระดับรายได้ของเกษตรกรในประเทศต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา : http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/88388