ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 อนุมัติการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา อัตราเบี้ยประกันภัยไร่ละ 65 บาท พื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่ ใน 33 จังหวัด ครอบคลุมเกษตรกรผู้เอาประกันภัยประมาณ 150,000 ราย รวมวงเงินไม่เกิน 130 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดังกล่าว เลขาธิการ คปภ. ในฐานะนายทะเบียน ได้ให้ความเห็นชอบแบบและข้อความ กรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอัตราเบี้ยประกันภัยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2561โดยมีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 14 บริษัท ได้แก่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด(มหาชน) บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันส์ จำกัด สาขาประเทศไทย บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ศรีอยุธยา เจเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งสามารถรับประกันภัยได้แล้ว
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ปีการผลิต 2561/62 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) จะให้ความคุ้มครองตามแนวทางเดียวกับกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี โดยค่าสินไหมทดแทนกำหนดไว้ 1,500 บาทต่อไร่ สำหรับความเสียหายจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ หรือภัยจากช้างป่า ยกเว้นความเสียหายจากศัตรูพืช หรือโรคระบาด ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 750 บาทต่อไร่ โดยเบี้ยประกันภัยอยู่ที่ 65 บาทต่อไร่ (รวมอาการแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)
“สำนักงาน คปภ. พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยจะปรับปรุงรูปแบบของโครงการ Training for the Trainers สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีให้รวมการอบรมความรู้ในเรื่องการประกันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามนโยบายของรัฐเป็น Package เพื่อให้เกษตรกรชาวนาไทยให้มีความรู้ความเข้าใจ และเล็งเห็นความสำคัญของการประกันภัยมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนในการปฏิรูปนโยบายการประกันภัยพืชผลชนิดอื่นๆ พร้อมจัดทำสื่อความรู้ในรูปแบบ Application เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่ายและทั่วถึง นอกจากนี้ ในฐานะนายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบแบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัย อัตราเบี้ยประกันภัยไปแล้วหลายแบบ อาทิ การประกันภัยทุเรียน การประกันภัยโคนม และอยู่ในระหว่างการจัดทำโครงการศึกษาวิจัยเรื่องกฎหมายแม่บทการประกันภัยพืชผลและผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชผลทางการเกษตรอื่นๆ เพื่อจะเพิ่มประสิทธิภาพของการนำระบบประกันภัยมาใช้ในการสร้างความมั่นคงในชีวิต และยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรไทย ด้วยการนำระบบประกันภัยไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของประชาชน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา : http://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/88875